ดูแลผู้สูงอายุที่บ้านยังไงดี? แนะนำวิธีดูแลคนที่คุณรักในครอบครัว

การดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

การดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวถือว่าเป็นหน้าที่และสิ่งสำคัญของคนในครอบครัวเดียวกัน ที่ต้องใช้ความใส่ใจในหลาย ๆ ด้าน ทั้งปัจจัยทางกายภาพ ด้านจิตใจ และสังคม เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขมากขึ้น หากสามารถดูแลผู้สูงอายุที่บ้านได้อย่างครอบคลุมในทุกด้านก็จะทำให้ลดการเกิดปัญหาต่างๆ ของผู้สูงวัยตามมา ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นและอบอุ่นมากขึ้นนั่นเอง

ประโยชน์ของการดูแลผู้สูงอายุ

การดูแลผู้สูงอายุที่บ้านมีประโยชน์มากมายทั้งสำหรับตัวของผู้สูงอายุเองและครอบครัวของพวกเขา

  • สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น : การดูแลที่ดีจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  • ความปลอดภัยและความมั่นคง : การดูแลผู้สูงอายุเบื้องต้นจะช่วยให้ผู้สูงอายุปลอดภัยจากอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นและมีความมั่นคงทางด้านการใช้ชีวิต
  • ความมั่นคงทางด้านอารมณ์ : การดูแลสร้างความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างผู้สูงอายุและครอบครัว จะช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นไปในทิศทางที่ดี
  • การแบ่งเบาภาระ : การดูแลคนแก่ที่บ้านได้ดี จะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ดูแลหลักและทำให้พวกเขามีเวลามากขึ้นสำหรับการใช้ชีวิตต่างๆ ของตนเอง
  • การตอบแทน : การดูแลผู้สูงอายุถือว่าเป็นอีกวิธีในการตอบแทนความรักและการสนับสนุนดูแลต่างๆ ที่พวกท่านได้ให้มาตลอดชีวิต

วิธีการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

การดูแลคนแก่ไม่ใช่เรื่องยาก หากรู้แนวทางและวิธีที่ถูกต้องในการปฏิบัติต่อพวกเขา ซึ่งสามารถทำได้ ดังต่อไปนี้

1. กินดีอยู่ดี สุขภาพดีจากภายใน

การดูแลคนแก่ที่ง่ายที่สุดคือการให้ผู้สูงอายุทานอาหารที่มีประโยชน์และย่อยง่าย เช่น ผัก ผลไม้ หรือเลือกทานอาหารที่ปรุงโดยใช้การต้ม ย่าง นึ่งเป็นหลัก หลีกเลี่ยงของทอดของมัน และอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ไขมัน ที่นอกจากจะย่อยยากแล้ว ยังมีโอกาสทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาอีกด้วย

2. ควบคุมน้ำหนักของผู้สูงอายุอย่าให้น้ำหนักเกิน

ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ หากมีน้ำหนักที่มากเกินไป ย่อมไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายอย่างแน่นอน และยิ่งถ้าเป็นผู้สูงอายุด้วยแล้ว หากมีน้ำหนักที่เกินเกณฑ์จะทำให้ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเจ็บตามข้อต่อที่เกิดจากการรับน้ำหนักตัวที่มากจนเกินไป ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุเบื้องต้นควรเริ่มจากสุขภาพร่างกายของพวกเขาก่อน

3. ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ

การจัดเตรียมบ้านให้เหมาะสมเพื่อการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านไม่ใช่เรื่องยาก อาจเริ่มจากการจัดห้องนอน ย้ายห้องของผู้สูงอายุลงมาอยู่ชั้นล่าง เพื่อลดการเดินขึ้นลงบันไดที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย การซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างเก้าอี้สำหรับผู้สูงอายุ รวมไปถึงการเพิ่มราวจับในห้องน้ำหรือห้องที่มีการใช้งานบ่อย ระมัดระวังในส่วนของพื้นต่างระดับ การนอนตกเตียง และพยายามไม่ให้พื้นห้องน้ำเปียก เพราะผู้สูงอายุอาจลื่นล้มจนเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

4. ยืดเส้นยืดสายบ้างให้ร่างกายยืดหยุ่น

การออกกำลังกายนั้นสำคัญสำหรับทุกเพศทุกวัยอยู่แล้ว และสำหรับการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวนั้นการออกกำลังกายย่อมสำคัญมาก เพราะหมายถึงการเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงมากขึ้น เมื่อมีการพลัดตกหกล้มจริงก็มีโอกาสที่จะทำให้การบาดเจ็บน้อยลง

5. พูดคุยกับผู้สูงอายุและหากิจกรรมทำร่วมกัน

ผู้สูงอายุบางคนอาจจะรู้สึกเหงาหรือรู้สึกเกิดความเครียดและเป็นภาระสำหรับลูกหลานที่จะต้องมาคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน การพูดคุยและการสื่อสารกับผู้สูงอายุทุกวันจะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลาย โดยอาจเริ่มต้นจากบทสนทาง่าย ๆ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้รู้สึกใกล้ชิดครอบครัวมากยิ่งขึ้น

6. ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงอบายมุขที่บั่นทอนสุขภาพ

ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้านั้นย่อมไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยของผู้สูงอายุที่ระบบต่างๆ ภายในร่างกายเสื่อมสมรรถภาพลง ซึ่งการลดและเลิกสิ่งเหล่านี้ลงจึงนับว่าเป็นทางออกที่ดีในการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวให้มีสุขภาพที่ดี

7. ดูแลผู้สูงอายุอย่าให้เกิดอุบัติเหตุ

สิ่งที่ต้องระมัดระวังที่สุดในการดูแลคนแก่ก็คือ การระมัดระวังไม่ให้ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุ เพราะร่างกายของผู้สูงอายุนั้นไม่ได้แข็งแรงและฟื้นตัวได้รวดเร็วเหมือนตอนที่อายุยังน้อย หากเกิดอุบัติเหตุอาจส่งผลขั้นร้ายแรงที่อาจถึงแก่ชีวิตได้

8. สังเกตอาการผิดปกติในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุนั้นเป็นวัยที่สามารถเจ็บป่วยได้ง่ายมากกว่าวัยอื่นๆ เนื่องจากสภาพร่างกายที่ถดถอยจากการใช้งานมานาน ดังนั้นผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวของผู้สูงอายุควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ เพื่อการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวที่ได้ประสิทธิภาพ เช่น กลืนอาหารลำบาก ท้องอืด ท้องผูก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เบื่อง่าย ปวดเจ็บตามร่างกาย อาการต่างๆ เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงอาการผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นภายในร่างกาย

9. หมั่นดูแลเรื่องสุขอนามัย

ความสะอาดสำคัญมากในการดูแลคนแก่ เพราะภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนแก่นั้นไม่ได้แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน หากหยิบจับสิ่งสกปรกเข้าสู่ร่างกาย อาจจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าปกติมาก

10. นัดพบแพทย์และตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ

ผู้ดูแลผู้สูงอายุควรดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ด้วยการหมั่นพาผู้สูงอายุไปตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอทุกปี หรืออย่างน้อย 2 ปี เพื่อตรวจสอบสุขภาพและป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นได้

การทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้สูงอายุ

การดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวอย่างเหมาะสมและครอบคลุมทุกด้านได้เป็นอย่างดี จะช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่มีคุณภาพ มีความสุข และมีความเป็นอยู่ที่ดี รวมไปถึงการให้ความรัก ความใส่ใจ และการสนับสนุนจากครอบครัวและชุมชนก็เป็นสิ่งที่สำคัญในการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

Ref : https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/life/retirement/senior-health-care

https://modernformhealthcare.co.th/how-to-take-care-of-elderly-at-home/