รู้ไว้ก่อนดีกว่าแก้ไม่ทัน กับโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

ดูแลผู้ป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต คือโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตของคนไทยเป็นอันดับ 1 (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข) โดยจากสถิติมีผู้เสียชีวิตจากอัมพฤกษ์ อัมพาตมากถึง 5 หมื่นรายต่อปี และพิการถึงปีละ 2.5 แสนราย โดยส่วนมากเป็นอาการที่มักพบในกลุ่มผู้สูงวัย แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัยได้เช่นกัน 

ต้นเหตุของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตเกิดจากความผิดปกติที่สมอง ไม่ว่าจะเป็นการขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงหรือหลอดเลือดสมองตีบและแตก สาเหตุหลัก ๆ ที่เกิดอาการเหล่านี้นั้นอาจจะเกิดจากความเครียด หรือการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของยุคสมัย 

เพื่อลดจำนวนการสูญเสียของคนรอบตัว เราจึงอยากแบ่งปันและแนะนำข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เพื่อเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ เพราะถ้าหากเรารู้อาการเบื้องต้นและสังเกตอาการได้เร็วแล้วพาผู้ป่วยมารักษาทันภายใน 4-5 ชั่วโมง จะทำให้โอกาสเสียชีวิตหรือพิการลดลง ดังนั้นแล้วเราควรเรียนรู้สาเหตุ อาการ และวิธีการป้องกันโรคอัมพฤกษ์และอัมพาต เพื่อคนที่คุณรักและลดจำนวนการสูญเสียของคนรอบตัวกันจะดีกว่า

ชายผู้สูงอายุ นั่งรถเข็นเพราะโรคอัมพฤกษ์และอัมพาต

อัมพฤกษ์และอัมพาตคืออะไร

อัมพฤกษ์และอัมพาต คือโรคทางสมอง ที่เกิดจากเส้นเลือดในสมองอุดตันจนทำให้มีอาการต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นอาการเลือดออกในสมอง หลอดเลือดในสมองแตกจากโรคความดันโลหิตสูง หรือเส้นเลือดในสมองโป่งพอง โรคที่ไขสันหลัง เช่น กระดูกสันหลังเคลื่อน ติดเชื้อที่บริเวณกระดูกสันหลังหรือไขสันหลัง กระดูกสันหลังหัก หรือเนื้องอกที่กระดูกสันหลังหรือไขสันหลัง เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าอัมพฤกษ์กับอัมพาตจะเป็นโรคทางสมองเหมือนกันแต่ก็มีอาการแสดงที่แตกต่างกัน โดยอัมพฤกษ์ อัมพาต ต่างกันยังไงนั้นเราลองมาดูรายละเอียดของทั้งสองโรคนี้กันดีกว่า

อัมพาต คือ

อัมพาต คืออาการที่ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้อย่างสมบูรณ์ โดยอาจจะเป็นอัมพาตทั้งตัวหรือเป็นอัมพาต ครึ่งซีก ผู้ป่วยจะไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ อวัยวะต่างๆ ไม่สามารถตอบสนองรับรู้ความรู้สึก ผู้ป่วยอัมพาตจึงมักจะติดเตียงและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

อัมพฤกษ์ คือ

อัมพฤกษ์ คือ อาการป่วยที่คล้ายกับอัมพาต แต่จะไม่ร้ายแรงเท่า เพราะอาการอัมพฤกษ์นั้นหลัก ๆ เลยก็คือภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Paresis) ผู้ป่วยยังรับรู้ความรู้สึกและสามารถขยับร่างกายได้ เพียงแต่อาจเคลื่อนไหวและควบคุมกล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลง

อาการเบื้องต้นหรือจุดสังเกตของโรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพาต

4 จุดอาการโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตที่คนใกล้ตัวสามารถช่วยสังเกต

อาการเบื้องต้นของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตสามารถสังเกตตามคำที่เรียกว่า FAST ได้เลย ซึ่งแต่ละคำจะมีอาการที่แตกต่างกันไปดังนี้

F: Face หน้าเบี้ยว

A: Arm แขน ขา อ่อนแรง

S: Speech พูดไม่ชัด

T: Time รีบไปโรงพยาบาลหลังรู้สึกตัว

5 สัญญาณอันตรายของอัมพฤกษ์อัมพาตที่ควรไปพบแพทย์

  1. รู้สึกชาที่บริเวณหน้า แขน หรือขา รวมไปถึงรู้สึกชาร่างกายบริเวณข้างใดข้างหนึ่งอย่างฉับพลัน
  2. มีปัญหาการมองเห็น เช่น ตามัว หรือมองเห็นภาพซ้อน ทั้งข้างเดียวและสองข้างอย่างฉับพลัน
  3. มีอาการเวียนศีรษะ รู้สึกมึนงง เดินเซ เดินลำบาก หรือสูญเสียการทรงตัวขณะเดินและยืนอย่างฉับพลัน
  4. พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด รวมไปถึงอาการไม่เข้าใจคำพูดอย่างฉับพลัน
  5. ปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ 

หากพบอาการที่ได้กล่าวไปข้างต้นข้อใดข้อหนึ่ง ให้สงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวอาจมีอาการเริ่มแรกของการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ควรรีบเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์อย่างทันที 

โรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง

สาเหตุของโรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพาต

สาเหตุหลักของการเกิดโรคอัมพฤกษ์อัมพาตเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองตีบหรืออุดตัน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาหลอดเลือดตีบหรืออุดตันนั้นก็มาจากภาวะไขมันในเลือดสูง มีประวัติเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือมีกรรมพันธุ์คนในครอบครัวเคยป่วยเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตมาก่อน นอกจากนั้นการสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน หรือมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอัมพฤกษ์อัมพาตสูงขึ้น

การป้องกันโรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพาต

การป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต จะต้องเน้นการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดความเครียด ไม่สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำ การป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตยังสามารถทำได้โดยการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในกรณีที่คนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาต

การรักษาโรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพาต

การรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต จะขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคและคนไข้ อาจจะรักษาด้วยการใช้ยา การกายภาพบำบัด และการผ่าตัด การรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต จะต้องเน้นการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจแบบองค์รวม เพื่อช่วยลดอาการและป้องกันการเกิดโรคซ้ำอีกครั้ง นอกจากนี้การรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต นั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุและโรคต้นเหตุของผู้ป่วย เช่น 

  • การผ่าตัดสมองเมื่อหลอดเลือดในสมองแตก 
  • ควบคุมโรคต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไขมันในเลือดสูง
  • ในกรณีที่ขยับตัวได้เล็กน้อย ให้ทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูกล้ามเนื้อแขน/ขา หรือฝึกพูด

การดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

สำหรับการดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ญาติผู้ป่วยสามารถดูแลได้เบื้องต้น ดังนี้

ป้องกันแผลกดทับ: 

ป้องกันแผลกดทับด้วยการหมั่นพลิกตะแคงตัวให้ผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ และถ้าหากผู้ป่วยสามารถเริ่มพลิกตะแคงตัวได้ด้วยตัวเองแล้ว ให้พยายามให้กำลังใจผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นให้สามารถนอนตะแคงได้ด้วยตนเอง

จัดท่าทางการนอน: 

ผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต สามารถฟื้นฟูร่างกายด้วยการให้ผู้ป่วยนอนในท่าที่เหมาะสม เช่น จัดให้ผู้ป่วยนอนหงายกางไหล่ออกเป็นมุมฉาก และควรมีหมอนบางๆ รองใต้ไหล่ ควรใช้หมอนข้างรองปลายเท้าทั้ง 2 ข้าง พยายามไม่ให้ข้อเท้าตก การจัดท่าของมือและแขนอาจจะมีการจัดท่าสลับไปมาได้หลายท่า ทั้งงอศอกเข้าและเหยียดข้อศอกออก เป็นต้น มองหาตัวช่วยจัดท่าทางการนอนอย่างเตียงไฟฟ้าเพื่อสุขภาพ ที่ช่วยรองรับสรีระร่างกาย กระจายน้ำหนักผู้ใช้งาน ผ่อนคลายและช่วยให้นอนหลับสบาย อีกทั้งยังใช้งานง่ายสะดวกสบายต่อผู้ดูแล

การออกกำลังกายเบื้องต้น: 

หากผู้ป่วยยังไม่สามารถที่จะขยับร่างกายได้ด้วยตัวเอง ญาติผู้ป่วยสามารถบริหารข้อไหล่ ด้วยการยกไหล่มาด้านหน้า กางไหล่ออกด้านข้างแล้วยกขึ้น หมุนไหล่เข้าและออก สามารถบริหารข้อศอกด้วยการงอและเหยียดข้อศอก คว่ำมือและหงายมือ หรือบริหารข้อนิ้วด้วยการหมั่นเหยียดงอข้อมือและนิ้วมือข้างที่เป็นอัมพาตของผู้ป่วย

สรุป

โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตเป็นภาวะรุนแรงที่อาจทำให้พิการถาวรและอาจถึงแก่ชีวิตได้ แม้ว่าโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตจะสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่สามารถป้องกันได้หากมีการดูแลสุขภาพอย่างระมัดระวัง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่เหมาะสมและมีประโยชน์  พร้อมทั้งตรวจสุขภาพเป็นประจำ และมองหาสินค้าที่ช่วยดูแลสุขภาพ เช่น เตียงเพื่อสุขภาพ ที่รับกับสรีระ ช่วยให้การนอนหลับพักผ่อนมีประสิทธิภาพ เพราะสุขภาพดีเริ่มด้วยจากการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ เมื่อเกิดอาการและสงสัยว่าตัวเองกำลังเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม เพื่อลดความรุนแรงของผลกระทบที่มีต่อสมองและร่างกาย

Reference: