คุณกำลังดูแลและเข้าใจความต้องการของผู้ป่วยติดเตียงได้เป็นอย่างดีหรือเปล่า? ปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุถึง 13 ล้านคนในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยติดเตียงประมาณร้อยละ 1.5 และในปี 2574 มีแนวโน้มพบ “ผู้ป่วยติดเตียง” เพิ่มกว่าร้อยละ 3 หรือประมาณ 4 แสนคนต่อปี แม้ว่าการนอนอยู่บนเตียงจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่การติดเตียงตลอดไปก็ใช่ว่าจะไม่เสี่ยง…
ในวันที่ผู้สูงอายุไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ความใส่ใจเป็นพิเศษจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้คุณมั่นใจได้ว่าจะสามารถดูแลผู้ป่วยติดเตียงได้ดีที่สุด บทความนี้จะพาคุณมาทำความเข้าใจว่าผู้ป่วยติดเตียงคือใคร มีสาเหตุมาจากอะไร มีโอกาสหายหรือไม่ ผู้ป่วยติดเตียงมีกี่ประเภท วิธีดูแลผู้ป่วยติดเตียง และหัวข้ออื่น ๆ ที่จะช่วยให้คุณดูแลบุคคลอันเป็นที่รักได้ดียิ่งขึ้น
ผู้ป่วยติดเตียงคือใคร
ผู้ป่วยติดเตียงคือคนที่ต้องรับการดูแลและรักษาในเตียงโรงพยาบาลหรือที่บ้าน ซึ่งต้องการการดูแลและรักษาอย่างต่อเนื่องโดยผู้ป่วยติดเตียงจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากบุคคลอื่น ๆ เช่น พยาบาล ผู้ดูแลสุขภาพส่วนตัว หรือคนในครอบครัว และในหลายๆ กรณีอาจต้องมีอุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น เตียงปรับระดับไฟฟ้า เครื่องช่วยหายใจ วีลแชร์ หรือเครื่องดูดเสมหะเป็นต้น วิธีดูแลผู้ป่วยติดเตียงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสะดวกสบายที่สุดทั้งสำหรับตัวผู้ป่วยติดเตียงเองหรือสำหรับผู้ดูแลด้วยเช่นกัน
ผู้ป่วยติดเตียงมีกี่ประเภท
เพื่อการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสมที่สุด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงมีการแบ่งผู้ป่วยติดเตียงไว้ 3 ประเภท ได้แก่ ผู้ป่วยติดเตียงกลุ่มสีเขียว ผู้ป่วยติดเตียงกลุ่มสีเหลือง ผู้ป่วยติดเตียงกลุ่มสีแดง โดยมุ่งเน้นการจัดการเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการและสภาพอาการของแต่ละบุคคลไว้ดังต่อไปนี้
1. กลุ่มสีเขียว
เป็นผู้ป่วยติดเตียงในระยะเริ่มแรกไปจนถึงระดับปานกลาง สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ มีอาการไม่หนักมาก สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเองเกือบทุกอย่าง แต่บางอย่างต้องมีผู้ดูแลคอยช่วย หรือคอยประคอง เพื่อป้องกันการล้มและการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ
2. กลุ่มสีเหลือง
เป็นผู้ป่วยติดเตียงที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพฤกษ์ สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้บางส่วน ต้องมีคนช่วยในการทำกิจวัตรในเรื่องต่าง ๆ เป็นส่วนมาก เสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับและภาวะแทรกซ้อน ต้องให้ผู้ดูแลคอยพลิกตัวบ่อย ๆ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ
3. กลุ่มสีแดง
เป็นผู้ป่วยติดเตียงที่เป็นอัมพาต ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้เลย ต้องมีผู้คอยช่วยเหลือดูแลในทุก ๆ เรื่อง มักจะมีปัญหาเรื่องแผลกดทับ ภาวะติดเชื้อ และโรคแทรกซ้อน ผู้ดูแลจึงต้องคอยหมั่นสังเกตอยู่เสมอ
ผู้ป่วยโรคใดบ้าง ที่ต้องได้รับการดูแลในฐานะผู้ป่วยติดเตียง
การเป็นผู้ป่วยติดเตียงส่วนใหญ่เกิดจากโรคหรือบาดเจ็บที่มีความรุนแรง และต้องการการดูแลเป็นพิเศษ หรือการรักษาในระยะยาว ซึ่งขึ้นอยู่กับความเสี่ยง ภาวะสุขภาพของผู้ป่วย และดุลพินิจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วย โดยผู้ป่วยที่มักได้รับพิจารณาให้รักษาในฐานะผู้ป่วยติดเตียง มีดังนี้
- โรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- โรคหลอดเลือด เช่น โรคอัมพฤกษ์, โรคอัมพาต
- โรคระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน, อัมพาต, อัมพฤกษ์
- การบาดเจ็บรุนแรง เช่น อุบัติเหตุที่ทำให้เสียชีวิตหรือทำให้เจ็บป่วยรุนแรง
- โรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งที่มีผลกระทบหนักต่อสุขภาพ
- โรคเรื้อรังที่รุนแรง เช่น โรคเบาหวาน, โรคไต, โรคปอด
- ภาวะพิการทางร่างกายหรือจิตใจ เช่น การสูญเสียหรือความเสียหายทางร่างกายหรือจิตใจอย่างรุนแรง
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น ความชรา, ภาวะอ้วน, การติดเชื้อที่รุนแรง เป็นต้น
อาการของผู้ป่วยติดเตียง
อาการของผู้ป่วยติดเตียงจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของการนอนติดเตียง ระยะเวลาที่นอนติดเตียง และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ยกตัวอย่างเช่น
1.กินอาหารได้น้อยลง
หลายรายไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ปกติเพราะเรี่ยวแรงไม่มี รวมไปถึงมีอาการเบื่ออาหารทำให้กินได้น้อยลงจากการต้องนอนนานๆ ไม่มีกิจกรรมทำ
2.กล้ามเนื้อลีบ
เมื่อผู้ป่วยไม่ได้ใช้งานกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน กล้ามเนื้อจะเริ่มลีบเล็กลงจนผอมและไม่แข็งแรง ทำให้เรี่ยวแรงน้อยลงไปเรื่อยๆ
3.หายใจไม่สะดวก
การอยู่ในท่านอนจะทำให้ผู้ป่วยติดเตียงหายใจตื้นกว่าคนปกติ ปอดไม่ขยาย จนทำให้เกิดภาวะปอดแฟบและส่งผลต่อการหายใจ ทำให้เกิดการหอบเหนื่อยได้ง่าย
4.หลงลืม
อาการหลงลืมในผู้ป่วยติดเตียงเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งการใช้ยา การทำงานของสมอง การนอนหลับเป็นเวลานานอาจทำให้ความสามารถในการจำลดลง
5.ท้องผูก
ผู้ป่วยติดเตียงมักทานอาหารได้น้อย เคี้ยวไม่สะดวกได้รับกากใยอาหารน้อย ทำให้ไม่พอต่อร่างกายจึงมักทำให้ขับถ่ายไม่ปกติ
โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากภาวะติดเตียง
จากปัญหาที่ผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ทำให้ส่งผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย และอาจก่อให้เกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนได้ดังนี้
1. โรคขาดสารอาหาร
เพราะไม่สามารถเลือกอาหารเองได้ และมักมีอาการเบื่ออาหาร กินได้น้อย อาจทำให้เกิดปัญหาขาดสารอาหาร กระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน สมองเสื่อม อ่อนเพลีย กระดูกพรุน ผิวหนังผิดปกติจากการขาดวิตามินต่างๆ
2. แผลติดเชื้อ
การไม่สามารถเคลื่อนไหวและทำความสะอาดด้วยตัวเองได้ อาจทำให้แผลเกิดการติดเชื้อ โดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
3. ปอดติดเชื้อ
มักเกิดจากการสำลักอาหารหรือสำลักน้ำลาย จนทำให้อาหารหลุดเข้าไปในหลอดลมและติดอยู่ในปอด และส่งผลให้ปอดอักเสบหรือติดเชื้อ
4. ติดเชื้อในกระเพราะปัสสาวะ
ในบางรายที่ไม่สามารถปัสสาวะด้วยตัวเองได้ อาจมีการกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ หรือมีปัสสาวะตกค้าง อาจทำให้เชื้อโรคเกิดการเจริญเติบโตจนติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะได้
ผู้ป่วยติดเตียงมีโอกาสหายได้หรือไม่
ในทางการแพทย์ยังไม่มีข้อพิสูจน์ยืนยันว่าผู้ป่วยติดเตียงทุกคนมีโอกาสหายได้ เพราะแต่ละคนแตกต่างกันไปตามอาการ อายุ สภาพร่างกาย สาเหตุการป่วย และปัจจัยต่าง ๆ ทำให้บอกได้ยากว่าจะหายหรือไม่ แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายที่หายและสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ แม้ว่าอาจจะไม่ 100% แต่ก็ถือว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยได้รับการช่วยเหลือจากผู้ดูแลใกล้ชิด และเข้ารับการรักษาและบำบัดทางการแพทย์ที่ถูกต้อง
6 สิ่งที่ต้องทำใน 1 วันในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง
วิธีดูแลผู้ป่วยที่ติดเตียง เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำอย่างรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อให้ผู้ป่วยที่ติดเตียงได้รับการดูแลที่เหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ดังนั้นเราจึงรวบรวมวิธีการดูแลผู้ป่วยติดเตียงใน 1 วันไว้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยรับการเอาใจใส่อย่างเหมาะสมและมีสุขภาพที่ดีอยู่ตลอดเวลาดังนี้
1. พลิกตัวและเปลี่ยนท่าให้กับผู้ป่วยบ่อย ๆ
ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงต้องหมั่นพลิกตัวให้กับผู้ป่วยบ่อย ๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง โดยใช้เทคนิคที่ถูกต้อง ซึ่งการพลิกตัวจะช่วยลดการเกิดแผลกดทับ ลดการติดเชื้อ และเพิ่มประสิทธิภาพในการหายใจ
2. ขณะรับประทานอาหารให้ปรับผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง
ในขณะที่ผู้ป่วยติดเตียงกำลังรับประทานอาหาร ต้องปรับเตียงให้เอียงประมาณ 45 องศา หรือให้พิงไปกับผนัง เพื่อลดอาการสำลัก และให้ผู้ป่วยรับประทานได้โดยสะดวก
3. หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของผู้ป่วย
ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงต้องหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของผู้ป่วย เพื่อลดอาการติดเชื้อ โดยใช้ผ้าที่นุ่มเช็ดตัว ทำความสะอาดช่องปากวันละ 2 ครั้ง หากผู้ป่วยไม่สามารถแปรงฟันได้ ให้ใช้ผ้านุ่มชุบน้ำยาบ้วนปากทำความสะอาดแทน
4. ให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก
ผู้ป่วยติดเตียงควรพักรักษาตัวอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ควรเป็นห้องพักที่มีความสะอาด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ และทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น
5. คอยสังเกตสุขภาพจิตของผู้ป่วยอยู่เสมอ
อย่าลืมสังเกตอารมณ์หรือสุขภาพจิตของผู้ป่วยติดเตียงเป็นประจำ เพราะส่วนใหญ่มักจะมีอาการซึมเศร้า หรือบางรายอาจจะหงุดหงิด โวยวาย เพราะไม่สามารถเคลื่อนไหวตัวได้ตามต้องการ หรืออาจพาไปพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาหรือขอรับยาก็ได้เช่นกัน
6. ระบายเสมหะเพื่อป้องกันเสมหะอุดกั้นทางเดินหายใจ
เนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงมักจะอยู่ในท่านอนหงาย จึงมักมีเสมหะตกค้างที่ส่วนหลัง ซึ่งมาจากการที่ผู้ป่วยไม่สามารถไอขับเสมหะได้ด้วยตัวเองจนเกิดการสะสมและตกค้าง ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสมหะอุดกั้นทางเดินหายใจจึงต้องมีการระบายเสมหะอยู่เสมอ โดยมีขั้นตอนตามนี้
1. ล้างมือให้สะอาด และบอกผู้ป่วยให้ทราบก่อนเสมอว่าจะทำการดูดเสมหะ
2. ใส่ถุงมือตรวจโรคหยิบสายดูดเสมหะต่อเข้ากับตัวเครื่อง โดยมืออีกข้างหนึ่งจับสายระบายเสมหะ
3. เปิดเครื่องดูดเสมหะ อย่าลืมบอกให้ผู้ป่วยทราบอีกครั้ง
4. เปิดข้อต่อตัว Y หรือพับสายดูดเสมหะเอาไว้ สอดสายยางเข้าไปทางปากอย่างเบามือ
5. ขณะทำการดูดเสมหะ ควรมีช่วงพักให้ผู้ป่วยได้หายใจด้วย และไม่ควรดูดนานเกินไป
6. อย่าลืมสังเกตปริมาณ สีของเสมหะ ดูว่ามีเลือดปนออกมาด้วยหรือไม่
7. เมื่อดูดเรียบร้อยแล้ว ค่อย ๆ ถอดสายยางดูดเสมหะออกอย่างเบามือ
8. ล้างสายยางดูดเสมหะในน้ำ ทิ้งถุงมือตรวจโรคลงถังขยะติดเชื้อ
9. ปิดเครื่องดูดเสมหะ จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่สบาย
10. สังเกตสีผิว ลักษณะการหายใจ และตรวจวัดชีพจรของผู้ป่วยว่าปกติหรือไม่
**ทั้งนี้ก่อนการปฏิบัติจริงควรฝึกวิธีการดูดเสมหะอย่างถูกวิธี และปฏิบัติตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างเคร่งครัด**
สิ่งที่ต้องระวังสำหรับผู้ป่วยติดเตียง
เนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงนั้นมีกิจกรรม และการเคลื่อนไหวที่น้อย ดังนั้นจึงเสี่ยงต่อภาวะแผลกดทับ สุขภาพจิตใจ รวมไปถึงปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่เกิดจากสภาวะที่ต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียง และนี่คือ 4 สิ่งที่ผู้ดูแลควรระวังและใส่ใจ
1. ความสะอาด
ความสะอาดเป็นเรื่องที่สำคัญกับผู้ป่วยติดเตียง เพราะหากดูแลไม่ดีอาจมีโอกาสติดเชื้อได้ และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด โดยผู้ดูแลต้องหมั่นชำระล้างร่างกายผู้ป่วยเป็นประจำ ดูแลสุขภาพช่องปาก การขับถ่าย และให้อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
2. แผลกดทับ
ปัญหาแผลกดทับก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับผู้ป่วยติดเตียง โดยผู้ดูแลต้องหมั่นพลิกตัว ขยับแขนขาให้ผู้ป่วยบ่อย ๆ หรืออาจหาอุปกรณ์ช่วยเสริม เพื่อลดและป้องกันแผลกดทับก็ได้เช่นกัน
3. ภาวะกลืนลำบาก
ผู้ป่วยติดเตียงมักมีปัญหาภาวะกลืนลำบาก ผู้ป่วยมักจะไอบ่อย ๆ ระหว่างกลืนอาหาร อาจรู้สึกว่ามีอะไรอยู่ในลำคอ เจ็บคอระหว่างกลืนอาหาร หรือมีอาการแสบร้อนกลางอก ดังนั้นผู้ดูแลจึงต้องเตรียมอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วย เช่น อาหารอ่อน อาหารที่ย่อยง่าย และปรับท่านั่งให้เหมาะสมขณะรับประทานอาหาร
4. สุขภาพจิต
ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงต้องเป็นคนช่างสังเกตและใจเย็น พูดจากับผู้ป่วยด้วยความสุภาพอ่อนโยนอยู่เสมอ รับฟังปัญหาของผู้ป่วยอย่างตั้งใจ พูดให้กำลังใจและให้ผู้ป่วยมองเห็นคุณค่าของตัวเอง แบ่งปันเรื่องราวที่มีความสุขร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วยอยู่เสมอ
อุปกรณ์สำหรับการดูแลผู้ป่วยติดเตียง
นอกจากผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงจะต้องใส่ใจในการดูแลผู้ป่วยเป็นพิเศษแล้ว ยังต้องหาอุปกรณ์เสริมหรือตัวช่วยสำหรับการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอีกด้วย เพื่อช่วยทุนแรงผู้ดูแล ป้องกันปัญหาต่าง ๆ เช่น แผลกดทับ การสำลัก และช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นอีกด้วย
1. เตียงนอนปรับระดับได้
เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่จำเป็นสำหรับการดูแลผู้ป่วยติดเตียง เพราะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยในการทำกิจวัตรต่าง ๆ เพิ่มความปลอดภัย โดยอาจเลือกเป็นเตียงปรับระดับไฟฟ้าก็ได้เช่นกัน
2. ที่นอนลดการเกิดแผลกดทับ
ที่นอนสำหรับผู้ป่วยติดเตียงต้องเป็นที่นอนเฉพาะที่ช่วยลดการเกิดแผลกดทับ ต้องเป็นที่นอนที่ไม่นิ่มไม่แข็งจนเกินไป เช่น ที่นอนยางพารา ที่นอนโฟม ที่นอนลม ที่นอนน้ำ เป็นต้น
3. หมอนเพื่อสุขภาพ
อีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับผู้ป่วยติดเตียงก็คือหมอนเพื่อสุขภาพที่จะช่วยปรับสรีระการนอนของผู้ป่วยให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ป่วยนอนแล้วไม่ปวดคอ นอนหลับสบาย ทำให้พักผ่อนได้เพียงพอ
4. รถเข็น/วีลแชร์
รถเข็นหรือรถนั่งวิลแชร์เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงไปในสถานที่ต่าง ๆ สามารถใช้ได้ทั้งนอกและในสถานที่ อีกนัยหนึ่งก็เป็นการฝึกให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเอง ในผู้ป่วยที่สามารถใช้วีลแชร์ได้
5. เครื่องดูดเสมหะ
เครื่องดูดเสมหะเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีไว้สำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่มีปัญหาเรื่องการหายใจ ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น และยังช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทางระบบหายใจอีกด้วย
6. ผ้าอ้อมผู้ใหญ่
ผ้าอ้อมผู้ใหญ่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่มีปัญหาการขับถ่าย ขับถ่ายเองไม่ได้ หรือไม่สามารถกลั้นอุจจาระและปัสสาวะได้ นอกจากนั้นยังสะดวกกับผู้ดูแล เพราะไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปที่ห้องน้ำอีกด้วย
สำหรับใครที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงอาจจะต้องรับงานหนักในการดูแล เพราะเป็นงานที่มีความละเอียดและต้องการความใส่ใจค่อนข้างสูง แต่หากเรานำอุปกรณ์ต่าง ๆ มาใช้ ก็จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลผู้ป่วยลงไปได้ไม่มากก็น้อย เราขอแนะนำ Topcaresร้านขายอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เราออกแบบและพัฒนาเพื่อคุณภาพที่ดีของคนที่คุณรักโดยเฉพาะ
Reference Source :
https://modernformhealthcare.co.th/bedridden-patient/
https://allwellhealthcare.com/caring-for-bedridden-patients-at-home/
https://www.paramountbed.co.th/news/contents
https://modernformhealthcare.co.th/how-to-take-care-bedridden-patient/
https://rakmor.com/how-to-suck-phlegm-in-bedridden-patients/