การอาบน้ำผู้ป่วยบนเตียงคืออะไร มีกี่แบบ และมีขั้นตอนอย่างไร

หมอกำลังพูดคุยกับผู้ป่วยก่อนจะอาบน้ำบนเตียง

การอาบน้ำเป็นกิจวัตรประจำวันที่ทุกคนจำเป็นต้องทำในทุก ๆ วัน เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากร่างหาย ไม่ว่าจะเป็นคราบเหงื่อไคลต่าง ๆ คราบผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เพื่อความสะอาดของร่างกาย แต่หากคุณหรือคนใกล้ชิดเกิดมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ทำให้ไม่สามารถอาบน้ำในห้องน้ำได้สะดวก ก็จะมีวิธีการอาบน้ำผู้ป่วยบนเตียงมาทดแทน ซึ่งในบทความนี้จะอธิบายว่าคืออะไร มีกี่แบบ มีขั้นตอนอย่างไร พร้อมคำแนะนำที่ควรทราบ

การอาบน้ำผู้ป่วยบนเตียงคืออะไร

อาบน้ําผู้ป่วยบนเตียง หมายถึง กระบวนการจัดให้ผู้ป่วยได้อาบน้ำในขณะที่ผู้ป่วยอยู่บนเตียง แทนที่จะใช้อ่างอาบน้ำหรือฝักบัวแบบเดิม ๆ ซึ่งจำเป็นสำหรับบุคคลที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว หรือกำลังพักฟื้นจากการผ่าตัด มีความพิการ หรืออาจป่วยหนักเกินกว่าจะเคลื่อนย้ายร่างกายได้ง่าย ซึ่งจะเป็นการใช้เทคนิคเฉพาะเพื่อทำความสะอาดผู้ป่วย ในขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บจากการเคลื่อนย้าย และลดความรู้สึกไม่สบายตัวให้เหลือน้อยที่สุด

บุคคลใดที่อาจจะต้องมีการอาบน้ำบนเตียง

บุคคลที่อาจต้องอาบน้ำบนเตียงมักเผชิญกับข้อจำกัดทางกายภาพหรือสภาวะสุขภาพที่ขัดขวางความสามารถในการใช้ห้องน้ำ ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยติดเตียง คนที่ต้องพักฟื้นตัวจากการผ่าตัด ผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง หรือบุคคลที่มีอาการป่วยเรื้อรัง การอาบน้ำบนเตียงกลายเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้มีสุขอนามัยที่เหมาะสม ซึ่งมักใช้ในสถานพยาบาล สถานดูแลระยะยาว หรือที่บ้าน ซึ่งบุคคลที่อาจจะต้องมีการอาบน้ำบนเตียงมีดังนี้

ผู้ป่วยติดเตียงจำเป็นต้องอาบน้ำบนเตียง

ผู้ป่วยติดเตียง

ผู้ป่วยติดเตียง คือ บุคคลที่ไม่สามารถลุกจากเตียงได้เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ความเจ็บป่วย การบาดเจ็บ หรือสภาวะสุขภาพอื่น ๆ ผู้ป่วยติดเตียงมักต้องการการดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงกิจกรรมประจำวันพื้นฐาน เช่น การรับประทานอาหาร การอาบน้ำ และการใช้ห้องน้ำ อาจจำเป็นต้องทำบนเตียงหรือใกล้เตียง ผู้ดูแลมีบทบาทสำคัญในการดูแลความต้องการของผู้ป่วยติดเตียงเพื่อให้มั่นใจถึงความสบาย ความเป็นอยู่ที่ดี และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย การอาบน้ำผู้ป่วยติดเตียงมักจำเป็นด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น มีปัญหาในการเคลื่อนย้ายหรือลุกออกจากเตียง มีความอ่อนแอไม่แข็งแรง ไม่เหมาะสมที่จะย้ายไปอาบในห้องน้ำ การอาบน้ำบนเตียงช่วยในการป้องกันการติดเชื้อได้

ผู้ป่วยพักฟื้นหลังผ่าตัด

ผู้ป่วยหลังผ่าตัด หมายถึง บุคคลที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวหลังการผ่าตัด การพักฟื้นในช่วงนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยในการฟื้นตัว เพื่อให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ในระยะนี้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จะติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเพื่อดูสัญญาณของภาวะแทรกซ้อน จัดการความเจ็บปวด และให้การสนับสนุนที่จำเป็น เพื่อช่วยให้กระบวนการฟื้นตัวราบรื่น ซึ่งผู้ป่วยหลังผ่าตัดมีสภาพทางการแพทย์หรือการบาดเจ็บบางอย่างที่อาจจำเป็นต้องนอนบนเตียงตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปอาบน้ำในห้องน้ำได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการอาบน้ำบนเตียง

ผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว

ผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวอาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น การบาดเจ็บ การเจ็บป่วย ความทุพพลภาพ หรือสภาวะที่เกี่ยวข้องกับอายุ ซึ่งต้องได้รับการดูแลเฉพาะทาง มีอุปกรณ์ช่วยเหลือ และอาจจะอยู่ในระหว่างการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกาย เพื่อเพิ่มหรือรักษาความสามารถในการเคลื่อนไหวและมีส่วนร่วมในกิจกรรมประจำวัน ดังนั้นจึงอาจต้องมีการอาบน้ำผู้ป่วยบนเตียง เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ปัญหาด้านการเคลื่อนย้าย มีความเจ็บป่วยด้านร่างกาย มีการบาดเจ็บ เป็นต้น

ผู้พิการ

บุคคลที่มีความพิการ หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ประสาทสัมผัส ความรู้ความเข้าใจ หรืออื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมประจำวัน การมีส่วนร่วมในสังคม หรือการเข้าถึงบริการต่าง ๆ สำหรับผู้พิการการเคลื่อนย้ายไปห้องน้ำอาจเสี่ยงต่อการหกล้มหรือได้รับบาดเจ็บได้ การอาบน้ำบนเตียงช่วยลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นได้ ผู้พิการจำนวนมากต้องการความช่วยเหลือเกี่ยวกับกิจกรรมประจำวัน การอาบน้ำบนเตียงช่วยให้ผู้ดูแลสามารถให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นโดยไม่ต้องลุกจากเตียงได้

ผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ คือ บุคคลที่อยู่ในช่วงสูงวัย โดยทั่วไปจะถือว่าบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เมื่อคนเราอายุมากขึ้น พวกเขาอาจเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย ความรู้ความเข้าใจ และสุขภาพ ผู้สูงอายุอาจจำเป็นต้องอาบน้ำบนเตียงเนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น มีการเคลื่อนไหวที่จำกัด สภาพแวดล้อมในห้องน้ำอาจเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงสำหรับการล้ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการทรงตัวหรือการเคลื่อนไหว ผู้สูงอายุบางคนอาจมีร่างกายอ่อนแอ ทำให้การเคลื่อนย้ายเข้าและออกจากห้องน้ำเป็นเรื่องที่ลำบาก การอาบน้ำบนเตียงช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลสุขอนามัยที่จำเป็น

 ผู้ดูแลคนป่วยจัดที่นอนก่อนทำการอาบน้ำผู้ป่วยบนเตียง

อาบน้ำผู้ป่วยบนเตียง มีกี่แบบ

1. อาบน้ำผู้ป่วยบนเตียงอย่างสมบูรณ์

อาบน้ำผู้ป่วยบนเตียงอย่างสมบูรณ์ ภาษาอังกฤษ Complete Bed Bath คือ การอาบน้ำอย่างทั่วถึงให้กับบุคคลที่ไม่สามารถอาบน้ำได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเคลื่อนไหว ต่อไปนี้เป็นขั้นตอนโดยละเอียดสำหรับการอาบน้ำผู้ป่วยติดเตียง

Complete Bed Bath ขั้นตอนเป็นอย่างไร

การอาบน้ำผู้ป่วยบนเตียงอย่างสมบูรณ์ หรือ Complete Bed Bath มีขั้นตอนดังนี้

  1. รวบรวมสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้ายางรองเตียง สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน กะละมัง ถุงมือ เป็นต้น
  2. สื่อสารกับผู้ป่วยว่าจะมีการอาบน้ำหรือเช็ดตัวเกิดขึ้น และขอความร่วมมือกับผู้ป่วย
  3. ถ้าผู้ป่วยต้องการขับถ่าย ให้จัดการให้เรียบร้อยก่อน
  4. ปรับเตียงให้เหมาะสม เลื่อนตัวผู้ป่วยมาริมเตียง ส่วนอีกฝั่งให้ยกราวกั้นเตียงขึ้น
  5. จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงายราบ ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าคลุมตัวผู้ป่วย
  6. ทำความสะอาดปากและฟันของผู้ป่วย ด้วยการแปรงฟันหรือบ้วนปาก หากผู้ป่วยนั่งไม่ได้ ควรหาหมอนหนุนศีรษะให้สูง
  7. จุ่มผ้าเช็ดตัวในน้ำ บิดพอให้หมาด
  8. เช็ดตาทั้งสองข้าง ซักผ้าเช็ดตัว จากนั้นเช็ดใบหน้าและหู
  9. เช็ดส่วนคอและไหล่ด้วยน้ำสบู่ จากนั้นซับให้แห้ง
  10. เช็ดตัวด้วยน้ำสบู่และน้ำเปล่า บริเวณแขน รักแร้ ข้อมือ หน้าอก หน้าท้อง ขา เท้า
  11. เช็ดบริเวณต่าง ๆ ให้แห้งสนิท ด้วยผ้าแห้งอีกผืน
  12. ให้ผู้ป่วยนอนตะแคง จากนั้นเช็ดตั้งแต่บริเวณคอไปจนถึงก้นกบ
  13. ให้ผู้ป่วยนอนหงาย ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศภายนอก
  14. ทาแป้งผู้ป่วยในบริเวณที่เสี่ยงต่อการอับชื้น
  15. ช่วยผู้ป่วยในการสวมเสื้อผ้าที่สะอาดและระบายอากาศ

2. การอาบน้ำบางส่วนของผู้ป่วย

การอาบน้ำบางส่วนของผู้ป่วย ภาษาอังกฤษ Partial Bed Bath คือ การอาบน้ำที่เน้นการทำความสะอาดบริเวณเฉพาะจุดของร่างกาย โดยทั่วไปคือใบหน้า มือ ใต้วงแขน และบริเวณอวัยวะเพศ โดยไม่ต้องให้อวัยวะต่าง ๆ จุ่มลงในน้ำทั้งหมด

Partial Bed Bath ขั้นตอนเป็นอย่างไร

การอาบน้ำบางส่วนของผู้ป่วย หรือ Partial Bed Bath มีขั้นตอนดังนี้

  1. รวบรวมสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้ายางรองเตียง สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน กะละมัง ถุงมือ เป็นต้น
  2. สื่อสารกับผู้ป่วย อธิบายขั้นตอนในการอาบน้ำ และขอความร่วมมือจากผู้ป่วย
  3. ถ้าผู้ป่วยต้องการขับถ่าย ให้จัดการให้เรียบร้อยก่อน
  4. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ป่วยอยู่ในท่าที่สบายและอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องบนเตียง
  5. ค่อย ๆ ถอดเสื้อผ้าของผู้ป่วยออกอย่างระมัดระวัง
  6. ทำความสะอาดปากและฟันของผู้ป่วย ด้วยการแปรงฟันหรือบ้วนปาก หากผู้ป่วยนั่งไม่ได้ ควรหาหมอนหนุนศีรษะให้สูง
  7. ค่อย ๆ เช็ดหน้าของผู้ป่วย รวมถึงหน้าผาก แก้ม จมูก และคาง
  8. ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำหมาด ๆ เพื่อขจัดสบู่
  9. เช็ดให้แห้งด้วยผ้าขนหนู
  10. ยกแขนของผู้ป่วยขึ้นและทำความสะอาดบริเวณใต้วงแขนด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำหมาด ๆ
  11. เช็ดบริเวณนั้นให้แห้งสนิท
  12. ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ โดยใช้ผ้าสะอาดแยกต่างหาก
  13. เช็ดบริเวณนั้นให้แห้งอย่างระมัดระวัง
  14. ทาแป้งผู้ป่วยในบริเวณที่เสี่ยงต่อการอับชื้น
  15. ช่วยผู้ป่วยในการสวมเสื้อผ้าที่สะอาด
ผู้ป่วยติดเตียงพร้อมที่จะให้พยาบาลอาบน้ำบนเตียงให้

ข้อแนะนำในการอาบน้ำผู้ป่วยบนเตียง

มีข้อแนะนำบางประการเกี่ยวกับการอาบน้ำผู้ป่วยบนเตียง ดังนี้

  1. ก่อนทำการอาบน้ำผู้ป่วยบนเตียงควรปิดประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกเป็นกังวล และไม่ให้ห้องมีอุณหภูมิที่เย็นเกินไป
  2. ก่อนทำการอาบน้ำผู้ป่วย ควรปูเตียงด้วยผ้ายางก่อน เพื่อป้องกันเตียงเปียกชื้น ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหากลิ่นอับ หรืออาจเกิดเชื้อราและเชื้อโรคได้
  3. ในการอาบน้ำผู้ป่วยบนเตียงควรใช้เตียงที่ปรับระดับได้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก
  4. ผู้ดูแลควรล้างมือให้สะอาดก่อนทำการเช็ดตัวทุกครั้ง เพื่อสุขอนามัยที่ดีของผู้ดูแลและผู้ป่วย
  5. ระหว่างการอาบน้ำบนเตียง หากน้ำที่ใช้เช็ดตัวเย็นเกินไปหรือน้ำเริ่มเป็นไขเพราะสบู่ ให้เปลี่ยนใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำมีอุณหภูมิเหมาะสมและสะอาด
  6. ในระหว่างการอาบน้ำผู้ป่วย สามารถพูดคุยกับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกสบายใจและผ่อนคลาย
  7. เมื่อเช็ดตัวด้วยน้ำเปล่าเสร็จแล้ว ต้องซับให้แห้งทุกจุด เพื่อป้องกันการอับชื้น

การอาบน้ำผู้ป่วยบนเตียงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ซึ่งป้องกันอุบัติเหตุการหกล้มระหว่างเคลื่อนย้ายไปอาบน้ำในห้องน้ำได้เป็นอย่างดี และเพื่อรักษาสุขอนามัยที่ดีของผู้ป่วย จึงควรทำตามขั้นตอนการอาบน้ำบนเตียงของผู้ป่วยอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัวและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

Reference :

http://courseware.npru.ac.th/admin/files/20170115133504_362424808f234c3ce1bb9b4d59e3cddd.pdf

https://www.thaihealth.or.th/การอาบน้ำผู้ป่วยบนเตีย-2

https://modernformhealthcare.co.th/10-steps-for-bathing-a-patient-in-bed/