การดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ

ผู้หญิงกำลังอ่านหนังสือกับผู้สูงอายุ

ในระยะที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับบุคคลในวัยอื่น ๆ เพราะด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ค่าครองชีพที่สูงมากขึ้น หลายคนจึงไม่นิยมแต่งงานหรือมีลูก ทำให้ผู้สูงวัยมีจำนวนมากขึ้นในสังคมไทย และต่อไปในอนาคตเมืองไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ดังนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญ ให้ความใส่ใจทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างใกล้ชิดแก่ผู้สูงอายุเป็นอย่างดี โดยในบทความนี้เราจะมากล่าวถึงว่า ผู้สูงอายุคือใคร อายุเท่าไหร่ ความเข้าใจและความต้องการของผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง ต้องดูแลอย่างไร มีกิจกรรมอะไรบ้างที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสมมีอะไรบ้าง

ผู้สูงอายุคือใคร อายุเท่าไหร่ขึ้นไป

ผู้สูงอายุหรือผู้สูงวัย หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่อยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างวัยกลางคนเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมาย ทั้งสุขภาพ อารมณ์ จิตใจ การใช้ชีวิตในประจำวัน กิจกรรมต่าง ๆ และสังคมรอบข้าง ซึ่งเป็นวัยที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้คุณภาพชีวิตและจิตใจของผู้สูงอายุดีขึ้น

ความเข้าใจในความต้องการของผู้สูงอายุ

การปรับตัวเข้ากับวัยสูงอายุเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องปฏิบัติและทำความเข้าใจในความต้องการของผู้สูงอายุ เพราะด้วยสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลง รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้สูงวัยอาจไม่ได้แข็งแรงและมีความสุขเหมือนแต่ก่อน ดังนั้นผู้ดูแลและผู้ใกล้ชิดจึงต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจให้มากขึ้น ดังนี้

จิตใจและอารมณ์ของผู้สูงอายุ

เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย สุขภาพไม่ค่อยดีและอาจจะมีโรคประจำตัว ทำให้เกิดความเครียด กังวล ส่งผลให้สุขภาพจิตผู้สูงอายุแย่ลงตามไปด้วย รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่การงานในช่วงวัยเกษียณ คือไม่ได้ทำงานแล้ว อยู่บ้านไม่ได้เข้าสังคม ไม่ได้เป็นหัวหน้าครอบครัวอีกต่อไป จึงทำให้อาจรู้สึกว่าคุณค่าในตนเองลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน หรือหงุดหงิดง่ายได้ ผู้ดูแลจึงต้องเรียนรู้และเข้าใจในผู้สูงวัย พร้อมกับคอยรับฟังปัญหา ให้กำลังใจ หากิจกรรมที่ผ่อนคลายให้ทำ หรือคอยอยู่เป็นเพื่อน เพื่อให้สภาพจิตใจของผู้สูงอายุดีขึ้น

ความต้องการทางด้านสุขภาพและการแพทย์

เมื่ออยู่ในช่วงสูงวัย ความต้องการด้านสุขภาพและการแพทย์จะสูงขึ้น เนื่องจากร่างกายที่เสื่อมถอยลง ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย และอาจมีโรคประจำตัว หรือมีโรคร้ายแรงแอบแฝง ดังนั้นจึงต้องพาผู้สูงอายุไปตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ

โดยผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับสิทธิผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 โดยในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้สูงอายุจะได้รับสิทธิบริการตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือเกิดภาวะการเจ็บป่วยฉุกเฉินก็สามารถโทรสายด่วนได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลมารับได้อย่างทันท่วงที

ผู้สูงอายุสองคนกำลังหัวเราะ

การดูแลที่บ้านและตัวเลือกการดูแลระยะยาว

การดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่ครอบครัว ผู้ดูแล และผู้ใกล้ชิดต้องเตรียมพร้อมและศึกษาหาข้อมูลไว้ล่วงหน้า เพื่อผู้สูงอายุจะได้มีสุขภาพกายและจิตใจที่แข็งแรง อยู่ในบ้านที่อบอุ่นและปลอดภัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ดังนี้

การปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุสิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงคือความปลอดภัย เช่น พื้นบ้านไม่ควรมีสายไฟหรือพรมที่เลื่อนได้ง่ายวางไว้ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุลื่นลมได้ง่าย ห้องน้ำควรมีราวจับด้านข้างเพื่อช่วยพยุงตัว รวมทั้งมีพื้นยางกันลื่นรองไว้ หรือทาน้ำยากันลื่น หรือเปลี่ยนเป็นกระเบื้องที่ไม่ลื่นแทน ห้องนอนควรมีโคมไฟที่หัวเตียง มีแสงสว่างเพียงพอ และผู้สูงอายุสามารถเอื้อมไปปิดไฟได้สะดวก เป็นต้น

บริการและสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ

แต่หากครอบครัวไหนที่ไม่สะดวกดูแลผู้สูงอายุด้วยตนเอง หรือไม่มีคนอยู่ที่บ้านตลอดเวลา อาจเลือกบ้านพักคนชรา หรือเนอสเซอรี่โฮมให้ผู้สูงวัยได้เข้าไปอยู่ ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกได้อย่างมาก เพราะสถานบริการเหล่านี้มีบริการที่ครอบคลุม มีผู้ดูแลตลอด ใกล้ชิดแพทย์และพยาบาล มีกิจกรรมให้ทำ และได้พบเพื่อนใหม่ ๆ ซึ่งเป็นผู้สูงวัยด้วยกัน ทำให้ยกระดับคุณภาพชีวิตและจิตใจของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น

ผู้หญิงกำลังดูแลผู้สูงอายุ

กิจกรรมและการมีส่วนร่วมในสังคมสำหรับผู้สูงอายุ

เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุหลายคนไม่ได้ทำงานและอยู่แต่ในบ้าน ทำให้ไม่ได้พบปะผู้คน ขาดการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยสนใจ ซึ่งอาจส่งผลให้จิตใจห่อเหี่ยวและหดหู่ ดังนั้นผู้สูงอายุจึงต้องมีการเชื่อมต่อกับชุมชนและสังคมภายนอก พร้อมกับทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสม เพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพจิตใจ และป้องกันภาวะการเป็นซึมเศร้า

กิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ

กิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุควรเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลาย ไม่ควรเป็นกิจกรรมที่ใช้แรงมากเกินไป ไม่ควรเป็นกิจกรรมที่ตื่นเต้น โลดโผน เพราะอาจจะทำให้ไม่เกิดความปลอดภัย เช่น การปลูกต้นไม้ การสวดมนต์ นั่งสมาธิ การอ่านหนังสือ วาดรูป งานศิลปะ ประดิษฐ์สิ่งของ ร้องเพลง ฟังเพลง ทำอาหาร เป็นต้น

การเชื่อมต่อกับชุมชนและสังคม

ผู้สูงอายุควรมีส่วนร่วมกับชุมชนและสังคม เช่น การเข้าร่วมในชมรมผู้สูงอายุ กิจกรรมจิตอาสา หรือการไปพบปะสังสรรค์เพื่อนเก่า ไปงานคืนสู่เหย้า เล่นกับลูกหลาน ซึ่งเราควรให้การสนับสนุนทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ทำให้ไม่เงียบเหงาจนเกินไป และยังส่งผลให้สุขภาพจิตดีขึ้นอีกด้วย

หนึ่งในกิจกรรมผู้สูงอายุคือการพบปะพูดคุยกัน

คำแนะนำด้านอาหารและการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุแตกต่างจากคนวัยอื่น ๆ ในเรื่องของสภาพร่างกาย จึงต้องมีการจัดอาหารที่เหมาะกับผู้สูงอายุ และเลือกการออกกำลังกายเบา ๆ ให้เป็นพิเศษ เนื่องด้วยสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง

แผนอาหารสำหรับผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุควรรับประทานอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ และต้องย่อยง่าย สะอาด ปลอดภัย เน้นพวกผักผลไม้ที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ของมัน ของทอด ของหวาน อาหารปิ้งย่าง อาหารรสจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการสูบบุหรี่ด้วย

การออกกำลังกายและการรักษาสุขภาพ

การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุควรเป็นการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำ และมีความปลอดภัย เช่น การเดินเร็ว การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน เป็นต้น หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีความเร็ว มีแรงกระแทกสูง มีการแข่งขัน หรืออยู่ในที่อากาศร้อนจัด แดดแรง อากาศไม่ถ่ายเท เพราะอาจทำให้เป็นลมหรือเกิดภาวะขาดน้ำได้

จะเห็นได้ว่าการดูแลผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด หากคุณทำความเข้าใจและให้ความใส่ใจอย่างแท้จริง ผู้สูงวัยก็จะมีชีวิตในบั้นปลายที่มีความสุข และสามารถอยู่กับคุณไปได้อีกนาน

Reference :

paolohospital.com/th-TH/center/Article/Details/การดูแลผู้สูงอายุ

https://www.dop.go.th/th/know/15/741

https://www.nurs.chula.ac.th/images/2019/announcement/%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2.pdf