รวมวิธีเช็คสิทธิบัตรทอง 2567 ออนไลน์ ง่าย ๆ ด้วยตนเอง

เช็คสิทธิบัตรทองด้วยตนเอง

หลายคนอาจอยากรู้วิธีเช็คสิทธิบัตรทองว่าอยู่โรงพยาบาลไหน หรือเช็คสิทธิบัตรทอง เปลี่ยนโรงพยาบาลต้องทำอย่างไร ไปเช็คข้อมูลได้ที่ไหน ซึ่งในปัจจุบันสามารถเช็คสิทธิบัตรทองด้วยตนเองได้ง่าย ๆ ที่บ้านผ่านทางออนไลน์ โดยมีหลากหลายช่องทางให้เลือก แต่ก่อนหน้านั้นเราไปทำความเข้าใจกันว่า สิทธิบัตรทองคืออะไร คุ้มครองและไม่คุ้มครองอะไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลและความรู้ในการใช้สิทธิต่อไปค่ะ

สิทธิบัตรทองคืออะไร

สิทธิบัตรทองคือ สิทธิรักษาพยาบาลให้กับคนที่มีสัญชาติไทย มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่นที่รัฐจัดให้ เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิบัตรข้าราชการ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล การตรวจวินิจฉัยโรค การเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุข การส่งเสริมด้านสุขภาพ และการป้องกันโรคต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทยว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านการแพทย์อย่างเท่าเทียมกันทุกคนนั่นเอง

เช็คสิทธิบัตรทอง 30 บาท คุ้มครองและไม่คุ้มครองอะไรบ้าง

เช็คสิทธิบัตรทอง 30 บาท

หลายคนอาจกำลังสงสัยว่าเช็คสิทธิบัตรทอง 30 บาท คุ้มครองและไม่คุ้มครองอะไรบ้าง ในบทความนี้เราจะมาชี้แจ้งให้ผู้อ่านได้ไขความสงสัยกัน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

สิทธิบัตรทองคุ้มครองอะไรบ้าง

  1. บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
  2. ตรวจและรับฝากครรภ์
  3. การทำคลอด
  4. การบริบาลทารกแรกเกิด
  5. ตรวจวินิจฉัยโรค
  6. บำบัดและบริการทางการแพทย์
  7. เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์
  8. การกินอยู่ในหน่วยบริการ
  9. บริการรถพยาบาล หรือบริการพาหนะรับ-ส่งผู้ป่วย
  10. บริการพาหนะรับ-ส่งผู้ทุพพลภาพ
  11. การฟื้นฟูสรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ
  12. การรักษาโรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาตัวในโรงพยาบาล
  13. บริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
  14. บริการสาธารณสุขที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุและการประสบภัยจากรถยนต์
  15. การบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติด
  16. บริการอื่นที่จำเป็นตามที่คณะกรรมการกำหนด

สิทธิบัตรทองไม่คุ้มครองอะไรบ้าง

  1. บริการเพื่อความสวยงาม โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
  2. การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง
  3. การปลูกถ่ายอวัยวะ ที่ไม่ปรากฎตามบัญชีแนบท้าย
  4. การตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
  5. การบริการทางการแพทย์อื่น ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด

เช็คสิทธิบัตรทองด้วยตนเองได้ผ่านช่องทางไหนบ้าง

  • เช็คสิทธิบัตรทองด้วยเลขบัตรประชาชน เพียงโทร 1330 แล้วกด 2 ตามด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และกด # (มีค่าบริการครั้งละ 3 บาท)
  • เช็คสิทธิผ่านเว็บไซต์ https://eservices.nhso.go.th/eServices/ (ในกรณีเช็คสิทธิบัตรทอง ไม่มีวันเกิด ให้พิมพ์ 00/00/ปีพ.ศ.)
  • เช็คสิทธิผ่านแอปพลิเคชัน “สปสช.” ได้ทั้งระบบ Android และ IOS กดเลือกเมนู “ตรวจสอบสิทธิด้วยตนเอง”
  • เช็คสิทธิผ่าน LINE Official Account สปสช. โดยการ Add Line @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 แล้วกดเลือกเมนู “ตรวจสอบสิทธิ”

เช็คสิทธิบัตรทองจากชื่อได้ที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน สำนักงานเขต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

เจ็บป่วยน้อยสามารถใช้สิทธิบัตรทองรับบริการหน่วยปฐมภูมิได้ทุกที่

เช็คสิทธิบัตรทองว่าอยู่โรงพยาบาลไหน


แม้ว่าคุณจะเช็คสิทธิบัตรทองว่าอยู่โรงพยาบาลไหนแล้ว แต่หากเจ็บป่วยเล็กน้อยนอกเขตที่ตนใช้สิทธิอยู่ ก็สามารถเข้ารับการบริการทางการแพทย์ที่หน่วยปฐมภูมิได้ โดยไม่เสียค่าบริการ เช่น ยาหมด ต้องการยาเพิ่ม ต้องทำแผลต่อเนื่อง มีไข้หรือไอ มีอาการเจ็บหรือปวด ก็สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยปฐมภูมิที่ใกล้ที่สุดได้ ดังนี้

แม้ว่าคุณจะเช็คสิทธิบัตรทองว่าอยู่โรงพยาบาลไหนแล้ว แต่หากเจ็บป่วยเล็กน้อยนอกเขตที่ตนใช้สิทธิอยู่ ก็สามารถเข้ารับการบริการทางการแพทย์ที่หน่วยปฐมภูมิได้ โดยไม่เสียค่าบริการ เช่น ยาหมด ต้องการยาเพิ่ม ต้องทำแผลต่อเนื่อง มีไข้หรือไอ มีอาการเจ็บหรือปวด ก็สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยปฐมภูมิที่ใกล้ที่สุดได้ ดังนี้
  • ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง
  • สถานีอนามัยใกล้บ้าน
  • ศูนย์การแพทย์ชุมชนเมือง
  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้าน
  • โรงพยาบาลประจำอำเภอหรือประจำจังหวัด
  • หน่วยบริการที่เข้าร่วมบัตรทอง เช่น ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการใกล้บ้าน คลินิกชุมชนอบอุ่น

เช็คสิทธิบัตรทอง เปลี่ยนโรงพยาบาล ไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้าน

การย้ายสิทธิบัตรทอง ไม่จำเป็นต้องย้ายทะเบียนบ้านตาม โดยคุณสามารถทำการย้ายสิทธิได้ด้วยตนเองได้เลยผ่าน 4 ช่องทาง ดังนี้

  • โทร 1330 สายด่วน สปสช. ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้
  • เข้าแอปพลิเคชัน “สปสช.” แล้วกดเลือกเมนู “เปลี่ยนหน่วยบริการ”
  • Add Line @nhso แล้วกดเลือกเมนู “เปลี่ยนหน่วยบริการ”
  • ติดต่อด้วยตนเองที่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

จะเห็นได้ว่าสิทธิบัตรทองมีประโยชน์ครอบคลุมการบริการทางการแพทย์ต่าง ๆ หลากหลายด้าน ซึ่งเป็นสิทธิที่คนไทยสมควรได้รับ และเราต้องใช้สิทธิให้เป็นด้วย เพื่อที่จะได้เกิดประโยชน์สูงสุด และได้รับการรักษาหรือบริการทางการแพทย์ที่สะดวกและใกล้เรามากที่สุดนั่นเอง

Reference Source :

https://www.exta.co.th/thing-you-should-know-about-universal-health-coverage/

https://www.pptvhd36.com/health/news/3464

https://www.hfocus.org/content/2022/08/25871

https://www.thecoverage.info/news/content/4703