โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ อาการ วิธีการดูแล และการป้องกัน

หญิงสูงวัยป่วยเป็นโรคชรา

โรคผู้สูงอายุ โรคชรา หรือโรคคนแก่เป็นโรคที่พบได้บ่อยเมื่อมีอายุมากขึ้น ซึ่งมีหลายโรคด้วยกัน แตกต่างตามความเสื่อมของสภาพร่างกายและสภาวะทางจิตใจของแต่ละบุคคล ซึ่งต้องได้รับการดูแลรักษาและเยียวยาอย่างถูกต้อง แต่ก็มีวิธีป้องกันหรือชะลอไม่ให้ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ เช่นกัน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

โรคชราคืออะไร อาการเป็นอย่างไร

โรคชราคือโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายเนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อมและทรุดโทรมลง ซึ่งเป็นที่มาของโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคร้ายแรงและโรคเรื้อรังก็ตาม โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ภายในจนถึงภายนอก ระบบต่อมไร้ท่อทำงานได้ไม่ดี ทำให้การหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ เสื่อมประสิทธิภาพ ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ไม่ทำงานตามที่ควรจะเป็น โรคชรามักทำให้เกิดอาการต่อไปนี้ เช่น สมองทำงานลดลง มีไขมันสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น ผิวหนังเหี่ยวย่น ผมร่วง ผมหงอก ตาพร่ามัว แขนขาอ่อนแรง ปวดตามข้อตามกระดูก หูตึง ท้องผูก อาหารไม่ย่อย เจ็บป่วยได้ง่าย เป็นต้น ซึ่งผู้สูงอายุทุกคนต้องดูแลตนเองให้ดี และเฝ้าระวังโรคต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงสูงวัย

โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ 2567 มีอะไรบ้าง

ชายชราป่วยเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

โรคเรื้อรังในผู้สูงอายุเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุซึ่งล้วนเกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกายตามอายุ และอาจเกิดจากการไม่ค่อยดูแลร่างกายและจิตใจตนเองสมัยวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ รวมทั้งสะสมความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ทำให้เกิดเป็นโรคชราที่อาจป่วยทั้งทางกายและทางใจได้ ซึ่งมีด้วยกันดังต่อไปนี้

1. โรคระบบประสาทและสมอง

หนึ่งในโรคผู้สูงอายุที่หลายคนกังวลว่าจะเป็นกันก็คือ โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง ซึ่งมีด้วยกันหลายโรค เช่น โรคสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดและสมอง โรคอัมพฤกษ์อัมพาต จนอาจต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเกิดได้จากการตายของเซลล์สมอง ผนังหลอดเลือดมีไขมันหรือหินปูนมาเกาะ ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ นอนหลับไม่เพียงพอ เป็นต้น

2. โรคหัวใจขาดเลือด

โรคคนแก่ต่อมาที่ผู้สูงอายุหลายคนเป็นคือโรคหัวใจขาดเลือด เนื่องจากเกิดไขมันสะสมในผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบ เลือดจึงไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด ซึ่งเกิดได้จากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ของหวาน ของทอด การใช้ชีวิตประจำวัน ขาดการออกกำลังกาย หรือกรรมพันธุ์ เป็นต้น

3. โรคความดันโลหิตสูง

โรคที่คนชราต้องพบเจอเป็นส่วนมากอีกโรคหนึ่งคือโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งพบมากในคนที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนด ซึ่งจะมีอาการปวดหัว ตาพร่ามัว ใจสั่น หน้ามืด หากปล่อยไว้นานก็อาจจะเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ด้วยเช่นกัน

4. โรคระบบทางเดินปัสสาวะ

โรคที่คนแก่ส่วนใหญ่เป็นอีกโรคหนึ่งก็คือโรคระบบทางเดินปัสสาวะ มักมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อย ระบบทางเดินปัสสาวะติดขัด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ทางเดินปัสสาวะฝ่อ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการรับประทานยาบางชนิด อย่างยาขับปัสสาวะ ยาลดความดัน หรือการมีต่อมลูกหมากโต เป็นต้น

5. โรคเบาหวาน

เป็นอีกหนึ่งโรคผู้สูงอายุยอดฮิตเลยก็ว่าได้ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ พฤติกรรม การรับประทานอาหาร การไม่ออกกำลังกาย ซึ่งส่งผลให้ร่างกายมีปัญหาในการผลิตอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย ทำให้มีน้ำตาลในกระแสเลือดสูง และเสี่ยงต่อการเป็นอันตรายได้

6. โรคไต

อีกโรคชราที่คนส่วนใหญ่มักเป็นคือโรคไต เนื่องจากภาวะไตเสื่อม อาจจะด้วยการรับประทานอาหารรสจัดจนเคยชิน การดื่มน้ำที่ไม่เหมาะสม หรือเกิดจากร่างกายทรุดโทรม ทำให้ไตทำงานหนัก นำไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง ต้องฟอกไต หรืออาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนไตเลยก็ได้

7. โรคเกาต์

โรคเกาต์เป็นอีกหนึ่งโรคคนแก่ที่สร้างความลำบากให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ซึ่งเกิดจากการที่มีกรดยูริกสะสมอยู่ในร่างกายเป็นจำนวนมาก ทำให้มีอาการปวดตามข้อต่าง ๆ โดยอาจเกิดมาจากการที่รับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อเป็ด เนื้อไก่ ถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

8. โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากการที่ร่างกายถูกใช้งานมานาน บางคนใช้งานหนักจนเกินไป เช่น ชอบยกของหนัก ชอบนั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งงอเข่า ชอบกระโดด เล่นกีฬาหนัก ๆ หรืออาจเกิดจากน้ำหนักเกิน ทำให้เข่าเสื่อมได้ทั้งสิ้น

9. โรคกระดูกพรุน

โรคผู้สูงอายุที่ต้องระวังอีกโรคหนึ่งคือโรคกระดูกพรุน ซึ่งมักพบในผู้หญิงที่หมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนที่ลดลง ทำให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลงเช่นกัน ทำให้กระดูกบางและเปราะหักง่าย อาจส่งผลให้ตัวเตี๊ยลง หลังงอ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดตามข้อต่าง ๆ

10. โรคเกี่ยวกับสายตา

โรคชราที่หนีไม่พ้นก็คือโรคทางสายตา โดยเฉพาะคนที่เคยทำงานหน้าคอมาก่อน หรือมักจะอยู่กับหน้าจอมือถือ หรือมีสายตาสั้น สายตาเอียงมาก จะยิ่งมีความเสี่ยงให้เป็นโรคทางสายตาสูง ไม่ว่าจะเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม ต้อหิน ต้อกระจก เป็นต้น

11. โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร

เมื่อมีอายุมากขึ้น อวัยวะและระบบต่าง ๆ ในร่างกายมักจะทำงานลดลง ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา อย่างระบบเกี่ยวกับทางเดินอาหารก็อาจมีปัญหา อาจป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะ ท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน

12. โรคซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ

โรคคนแก่โรคสุดท้ายที่หลายคนอาจละเลยคือโรคเกี่ยวกับทางจิตใจ เนื่องจากผู้สูงอายุมักอยู่แต่กับบ้าน ทำให้ไม่ค่อยได้เข้าสังคม ขาดรายได้ มีโรคประจำตัว ทำให้เครียด กังวล หรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน ซึ่งต้องได้รับการบำบัดและรักษาอย่างถูกวิธี

วิธีการป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุ

ชายสูงวัยกำลังจะออกกำลังกายเพื่อต่อสู้กับโรคชรา

โรคชราหรือโรคผู้สูงอายุมีวิธีป้องกันที่ไม่ยาก ซึ่งเป็นการดูแลร่างกายในขั้นพื้นฐานให้แข็งแรง จุดสำคัญคือต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เพียงตอนที่เราอายุมากแล้วเท่านั้น แต่ต้องทำตั้งแต่เราอยู่ในวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ นอกจากนั้นยังช่วยลดโอกาสและความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุอีกด้วย ซึ่งมีวิธีต่าง ๆ ดังนี้

รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

อาหารคือปัจจัยหลักในการต้านทานโรคผู้สูงอายุไม่ให้มาคุกคาม หากเราเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและที่สำคัญต้องครบ 5 หมู่ ก็จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ทำให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมต่อสู้กับโรคต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

ออกกำลังกายเป็นประจำ

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง หัวใจได้สูบฉีดเลือดและออกซิเจนให้ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างทั่วถึง และยังชะลอความเสื่อมของร่างกายในวัยชราอีกด้วย ซึ่งผู้สูงอายุควรเลือกออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับให้เพียงพอเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคคนแก่ต่าง ๆ เพราะจะทำให้ร่างกายได้ฟื้นฟูตัวเอง สมองได้พักผ่อนจากเรื่องต่าง ๆ ช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับประสาทและสมองได้อีกด้วย

รู้วิธีจัดการกับความเครียด

ความเครียดนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด ซึ่งเราต้องรู้จักจัดการกับความเครียดด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น สวดมนต์ นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ ฟังเพลงเบา ๆ ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร เล่นกับสัตว์เลี้ยง ออกไปเที่ยว พบปะเพื่อนฝูง เป็นต้น

ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

อย่าละเลยการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะค่าต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นค่าเลือด ค่าชีพจร ความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ ผลปัสสาวะ หรือผลชิ้นเนื้อ จะทำให้เราทราบความเป็นไปของร่างกาย หากพบโรคร้ายก็สามารถเข้ารับการรักษาได้เร็ว ทำให้โอกาสที่จะหายนั้นมีมากกว่าคนที่ไม่ได้ตรวจสุขภาพเป็นประจำ

การป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคในผู้สูงอายุต้องทำทุกวิธีควบคู่กันไป เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สมบูรณ์ พร้อมที่จะอยู่กับลูกหลานไปได้อีกยาวนาน และยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

Reference :

https://www.dop.go.th/th/know/15/419

https://www.bangkokhospital.com/content/care-for-the-elderly

healthaddict.com/content/health_snap/โรคชราอย่าคิดว่าไม่มีจริง

nakornthon.com/article/detail/7-โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่ต้องเฝ้าระวัง