ความดันสูงเกิดจากอะไร อาการเป็นแบบไหน รักษายังไง

เครื่องวัดความดันวัดค่าผู้ป่วยได้ความดันสูง

ภาวะความดันสูงมักพบได้ป่วยในผู้สูงอายุ เพราะร่างกายที่เสื่อมถอย ทำให้หลอดเลือดไม่แข็งแรง รวมทั้งยังมีปัจจัยอื่น ๆ ประกอบอีกมากมาย ซึ่งเราควรเฝ้าระวังและตรวจวัดค่าความดันอย่างสม่ำเสมอ ในบทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับความดันสูงว่าคืออะไร เป็นภาวะแบบไหน มีกี่ประเภท สาเหตุเกิดจากอะไร มีอาการแบบไหน มีวิธีการรักษาอย่างไร และใช้ยาประเภทไหนในการรักษา

ความดันสูงคืออะไร

ความดันสูงคือภาวะที่ความดันโลหิตมีค่าอยู่ในระดับสูงมากกว่าปกติ คือมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท โดยวัดค่าหลังนั่งพักแล้ว 5-10 นาที และไม่ได้สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ และวัดค่าได้ 2 ครั้งขึ้นไป ในเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ซึ่งอาจจะไม่แสดงอาการ แต่สร้างความเสียหายแก่ร่างกายได้ โดยอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต จอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น

ความดันสูงมีกี่ประเภท

ความดันสูงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

ความดันสูงชนิดปฐมภูมิ (Primary Hypertension)

เป็นความดันสูงที่มาจากสาเหตุที่ไม่ชัดเจน ซึ่งอาจจะมาจากพฤติกรรมที่ไม่ดีของเรา หรือพื้นฐานของร่างกาย เช่น พันธุกรรม น้ำหนักเกิน ขาดการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และจะมีอาการแย่ลงเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งพบได้มากกว่า 90% ของผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป

ความดันสูงชนิดทุติยภูมิ (Secondary Hypertension)

เป็นความดันสูงที่มาจากความผิดปกติของร่างกายหรือการป่วยเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคไต โรคต่อมไร้ท่อ ครรภ์เป็นพิษ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งอาการจะปรากฎขึ้นอย่างกะทันหัน

แพทย์กำลังวัดค่าความดันสูงผู้สูงอายุ

ความดันสูงเท่าไหร่อันตราย

หากถามว่าความดันสูง 170 อันตรายไหม บอกได้เลยว่าอยู่ในขั้นที่อันตรายมากต้องพบแพทย์โดยด่วน ซึ่งภาวะความดันสูงผู้สูงอายุมักจะมีค่าอยู่ที่ประมาณ 140-159/90-100 มิลลิเมตรปรอท ส่วนความดันสูงขณะตั้งครรภ์อาจมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งต้องเฝ้าระวัง ติดตาม และอาจจะเข้าพบแพทย์เพื่อหาทางป้องกันและรักษาเช่นกัน

ความดันสูงเกิดจากอะไร

ความดันสูงเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ซึ่งมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ได้แก่

  • อายุ : เมื่อมีอายุมากขึ้น ความดันโลหิตก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งผู้สูงอายุในวัย 65 ปีขึ้นไปต้องเฝ้าระวัง
  • พันธุกรรม : ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเคยมีประวัติความดันสูง มักจะมีแนวโน้มที่ต่อไปจะมีความดันสูงตามไปด้วย
  • เพศ : มีการสำรวจพบว่าเพศชายมักจะมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในภาวะความดันสูงมากกว่าเพศหญิง
  • เชื้อชาติ : มีการสำรวจพบว่าผู้ที่มีเชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกันจะมีความดันสูงเมื่ออายุมากขึ้น
  • ความเครียด : สภาพจิตใจและอารมณ์ส่งผลต่อระดับความดันอย่างมาก โดยผู้ที่มีความเครียดสูง จะมีภาวะความดันสูงตามไปด้วย
  • พฤติกรรม : ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกายหรือขาดการออกกำลังกายเป็นระยะเวลานาน จะมีความเสี่ยงที่จะมีความดันสูง
  • การสูบบุหรี่ : การสูบบุหรี่จะทำให้ความดันสูงได้ในชั่วขณะ แต่ในระยะยาวจะทำให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดเสียหายได้ ส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคเรื้อรัง
  • การดื่มแอลกอฮอล์ : ผู้หญิงที่ดื่มแอลกฮอล์มากกว่า 1 แก้วต่อวัน และผู้ชายที่ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 2 แก้วต่อวัน มีโอกาสที่จะเป็นความดันสูงได้
  • อาหารที่มีโซเดียมสูง : อาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมในปริมาณสูง เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นเช่นกัน
  • อาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำ : อาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำจะทำให้ร่างกายกักเก็บโซเดียมไว้มากขึ้น ทำให้ความดันโลหิตสูงเช่นกัน
  • เป็นโรคเรื้อรัง : โรคต่าง ๆ ต่อไปนี้ ทำให้ความดันสูงได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไต โรคต่อมไร้ท่อ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น
  • อยู่ในขณะตั้งครรภ์ : การตั้งครรภ์อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะหากอยู่ในภาวะครรภ์เป็นพิษ ความดันจะสูงมากจนผิดปกติ
หญิงสาวพบว่ามีความดันสูงขณะตั้งครรภ์

ความดันสูงอาการเป็นแบบไหน

สำหรับผู้ที่เป็นความดันสูงในระยะแรก ๆ อาจไม่มีอาการที่แสดงออกทางร่างกายชัดเจน แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะความดันสูงมากจนผิดปกติ มักจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดหัวเพราะความดันสูงเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อย
  • ความดันสูงมักจะมีอาการหัวใจเต้นเร็วร่วมด้วย
  • อาจมีอาการหายใจถี่หรือใจสั่น
  • รู้สึกเหนื่อยง่าย มีอาการหอบ
  • รู้สึกคลื่นไส้ และอาจอาเจียนออกมา
  • มีอาการเวียนศีรษะ หรือหน้ามืด
  • มีอาการปวดที่บริเวณต้นคอ
  • รู้สึกปวดตา หรือมีอาการตาพร่ามัว
  • มีอาการมือและเท้าชา

ความดันสูงควรทำอย่างไร

หากถามว่าผู้ที่มีความดันสูงแก้ยังไง ก็จะมีวิธีแก้ไขเบื้องต้นดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
  • ลดปริมาณเกลือในอาหาร และเลี่ยงอาหารที่มีรสจัดเกินไป
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ทำจิตใจให้สงบเพื่อลดความเครียด

ความดันสูงรักษายังไง

การรักษาความดันสูงจะเน้นไปที่การปรับพฤติกรรมร่วมกับการใช้ยาและการติดตามผล เพื่อให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจต้องมีค่าความดันที่ต่ำกว่านั้น โดยมีวิธีการรักษาดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : ผู้ที่มีความดันสูงจะต้องควบคุมน้ำหนักให้ดี ลดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูงและอาหารที่มีรสจัด เพิ่มปริมาณผักและผลไม้ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม 
  • การใช้ยาเพื่อลดความดัน : สำหรับผู้ที่มีความดันสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท แพทย์อาจจะพิจารณาให้รับประทานยาช่วยลดความดัน ซึ่งปัจจุบันมีตัวยาต่าง ๆ ให้เลือกมากมาย
  • การติดตามผลอย่างต่อเนื่อง : เป็นการวัดความดันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินและควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และติดตามผลจากห้องปฏิบัติการต่าง ๆ เช่น เลือด ปัสสาวะ คลื่นหัวใจ เป็นต้น
ผู้ป่วยเตรียมยาความดันสูง

ยาสำหรับรักษาความดันสูงมีอะไรบ้าง

สำหรับผู้ที่มีภาวะความดันสูงเรื้อรัง แพทย์อาจจะวินิจฉัยและตัดสินใจให้ผู้ป่วยรับประทานยา เพื่อลดความดันโลหิตสูง ซึ่งยาที่ใช้ส่วนใหญ่มักจะได้แก่

  • ยาลดความดันโลหิต
  • ยาขยายหลอดเลือด
  • ยาต้านแคลเซียม
  • ยาต้านอัลฟ่า
  • ยาต้าอัลฟ่าเบต้า
  • ยาต้านเบต้า
  • ยาต้านเรนิน
  • ยาขับปัสสาวะ
  • ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง

หากถามว่าความดันสูงหายได้ไหม ความดันสูงมีโอกาสหายได้ หากปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม ดูแลตนเองให้ดี และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

Reference

https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/high-blood-pressure-hypertension

https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/hypertension

https://bangpo-hospital.com/hypertension/

https://www.bangpakok3.com/care_blog/view/252