หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้างว่าการทำกายภาพบำบัดสามารถรักษาโรคบางอย่างหรือทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้นได้ เช่น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งเป็นการบำบัดผ่านการบริหารกล้ามเนื้อที่มีเทคนิคเฉพาะ ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ นอกจากนั้นยังมีประโยชน์อีกมากมาย เช่น คนที่เป็นโรคออฟฟิศซินโดรม ก็ช่วยบรรเทาอาการปวดตึงคอ บ่า ไหล่ ได้ดี ซึ่งนับเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ในบทความนี้จะพาไปศึกษาหลากหลายหัวข้อเกี่ยวกับกายภาพบำบัด มาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้างค่ะ
กายภาพบำบัดคืออะไร
กายภาพ หรือ กายภาพบำบัด มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Physical Therapy คือ ศาสตร์ฟื้นฟูร่างกายด้วยการใช้วิธีและเทคนิคต่าง ๆ โดยไม่ต้องผ่าตัด อาจมีอุปกรณ์ช่วยได้ เป็นการบริหารร่างกายเพื่อลดอาการปวด หรือปรับปรุงการเคลื่อนไหวให้มีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางด้านต่าง ๆ เช่น การผ่าตัด ออฟฟิศซินโดรม โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น เพื่อให้ผู้ป่วยลดอาการปวดเมื่อยและสามารถเคลื่อนไหวได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
นักกายภาพบำบัดคือใคร
นักกายภาพบำบัดคือผู้ที่ผ่านการศึกษาเฉพาะทางเกี่ยวกับการทำกายภาพบำบัด โดยมีใบรับรองประกอบวิชาชีพอย่างถูกกฎหมาย นักกายภาพบำบัดจะช่วยแนะนำท่าบริหาร เทคนิคต่าง ๆ จนไปถึงการช่วยจับให้ทำท่าต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้สามารถใช้ร่างกายในชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนักกายภาพบำบัดอาจทำงานร่วมกับแพทย์เพื่อการรักษาที่ดียิ่งขึ้น แต่ผู้ป่วยก็สามารถไปหานักกายภาพบำบัดโดยตรงได้เองโดยไม่ต้องผ่านแพทย์ ยกเว้นการรักษาที่มีอาการบาดเจ็บรุนแรง ที่จะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเท่านั้น
กายภาพบำบัดเหมาะกับใครบ้าง
- ผู้ที่มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น ปวดคอ บ่า ไหล่ แขน หลัง ขา สะโพก เข่า ข้อเท้า
- ผู้ที่เป็นโรคออฟฟิศซินโดรม นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ขาดการออกกำลังกาย
- ผู้ที่เริ่มมีอาการชาตามแขนขา และกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ผู้ที่มีอาการข้อติด นิ้วล็อค ไม่สามารถเหยียดข้อต่อจนสุดได้
- ผู้ที่มีการเดินที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น เดินเอียง เดินลากเท้า เหยียดขาตรงไม่ได้
- ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย
- ผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่เคลื่อนไหวลำบาก
การทำกายภาพบำบัดช่วยอะไรได้บ้าง
- ช่วยบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ตามร่างกาย
- ช่วยฟื้นฟูร่างกายจากอาการบาดเจ็บต่าง ๆ
- ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้ยืดหยุ่นและแข็งแรง
- ช่วยให้ร่างกายมีความสมดุล ทรงตัวได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ
- ช่วยบำบัดและฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยหลังการผ่าตัด และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ
- ช่วยส่งเสริมสมรรถภาพและแก้ไขความบกพร่องในการเคลื่อนไหวร่างกาย
- ช่วยส่งเสริมการใช้แขนและขาเทียมได้ดียิ่งขึ้น
- ช่วยส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ช่วยต่าง ๆ เช่น ไม้เท้า วอล์คเกิล ได้ดียิ่งขึ้น
- ช่วยลดโอกาสที่จะต้องผ่าตัดสำหรับโรคบางชนิด เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- ช่วยควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ดียิ่งขึ้น
กายภาพบำบัดมีอะไรบ้าง
ศาสตร์ของการทำกายภาพมีตั้งแต่กายภาพบำบัดพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง เพื่อรองรับผู้ป่วยในโรคต่าง ๆ รวมถึงผู้ป่วยต่างวัย เพื่อให้ครอบคลุมอาการเจ็บป่วยให้มากที่สุด เพื่อให้การเคลื่อนไหวและการทำกิจวัตรในประจำวันต่าง ๆ คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
1. กายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
นักกายภาพบำบัดจะตรวจวินิจฉัยอาการบาดเจ็บของกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยมักจะมีอาการอักเสบ ปวดบวมแดง ร้อน ปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง จากความเสื่อมของร่างกาย เช่น กระดูกสันหลังขด ข้อเสื่อม ข้อติด ข้อแข็ง ออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น
2. กายภาพบำบัดด้านระบบประสาท
นักกายภาพบำบัดจะทำการพัฒนาและส่งเสริมส่วนที่บกพร่องหรือสูญเสียไปของระบบประสาท ซึ่งต้องวินิจฉัยเป็นรายบุคคลไป ผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่มักจะป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง ดังนี้ โรคหลอดเลือดและสมอง โรคสมองพิการแต่กำเนิด ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น
3. กายภาพบำบัดด้านหลอดเลือดและหัวใจ
นักกายภาพบำบัดจะดูแลผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดระบบหลอดเลือด หัวใจ และปอด เพื่อระบายของเสียออก มักพบได้ในผู้ป่วยโรคปอดอุดกลั้นเรื้อรัง ผู้ที่ต้องทำ By Pass หัวใจ หรือผู้ที่เป็นพังผืดถุงลม เป็นต้น
4. กายภาพบำบัดในผู้สูงวัย
นักกายภาพบำบัดจะช่วยดูแลผู้สูงวัยให้มีการเคลื่อนไหวที่คล่องตัวมากขึ้น สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดี และลดอาการปวดตามร่างกาย ซึ่งผู้สูงวัยมักมีอาการเหล่านี้ คือ ข้อเข่าเสื่อม ข้อติด ข้ออักเสบ กระดูกบาง การกลั้นการขับถ่ายไม่อยู่ หรืออาจป่วยเป็นโรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น
5. กายภาพบำบัดในเด็ก
นักกายภาพบำบัดจะดูแลในด้านต่าง ๆ แบบองค์รวม เช่น การสร้างเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การพัฒนาระบบประสาทและสมอง การแปลผลทางการรับรู้และการสัมผัส เป็นต้น ซึ่งมีทั้งเด็กทารก เด็กเล็ก และวัยรุ่น เด็กที่ได้รับการบำบัดส่วนใหญ่คือ เด็กที่สมองพิการแต่กำเนิด หรือมีพัฒนาการที่ล่าช้า
6. กายภาพบำบัดด้านกีฬา
เป็นการดูแลนักกีฬาก่อน ระหว่าง และหลังแข่งขัน เพื่อดูแล ป้องกัน ฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวของร่างกายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ขั้นตอนกายภาพบำบัด
ขั้นตอนกายภาพบำบัดใหญ่ ๆ นั้นมี 2 ขั้นตอน ซึ่งได้แก่ การประเมินอาการและการทำกายภาพบำบัด แต่จะเน้นหนักไปตรงที่การทำกายภาพบำบัดให้ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ซึ่งความถี่ในการทำกายภาพก็ต้องขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน ซึ่งนักกายภาพวิชาชีพจะเป็นผู้กำหนด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีของอาการผู้ป่วยแต่ละคนได้
1. การประเมินอาการ
การประเมินจะเริ่มจากการซักถามประวัติผู้ป่วยว่ามีปัญหาการเคลื่อนไหวตรงส่วนไหนบ้าง หากจำเป็นอาจจะมีการ X-Ray หรือ MRI และทำการทดสอบต่าง ๆ เช่น ให้เคลื่อนไหว หยิบจับสิ่งของ ปีนป่าย ทรงตัว วัดอัตราการเต้นของหัวใจ และอาจกลับมาประเมินอาการอีกครั้งหลังการทำกายภาพบำบัดไประยะหนึ่งแล้วเพื่อติดตามผล
2. การทำกายภาพบำบัด
นักกายภาพบำบัดจะออกแบบแผนการทำกายภาพบำบัดให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ซึ่งมีหลากหลายแบบ เช่น การออกกำลังกายและบริหารกล้ามเนื้อ การนวดประคบร้อนและเย็น การบำบัดร่างกายสำหรับคนใช้แขนขาเทียม ซึ่งอาจมีการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นตัวช่วยให้ทำกายภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อุปกรณ์กายภาพบำบัด
1. เครื่องอัลตร้าซาวด์
เป็นคลื่นเหนือเสียงที่มีความถี่สูง สามารถลงลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อได้ 3-5 เซนติเมตร ทำให้กล้ามเนื้อที่เกรงคลายตัว ลดอาการปวดบวม กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต
2. เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า
เป็นการช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ ช่วยคลายกล้ามเนื้อชั้นตื้นและชั้นลึกได้
3. เครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า
เป็นคลื่นแม่เหล็กที่เกิดจากการเหนี่ยวนำไฟฟ้า ช่วยกระตุ้นเส้นประสาทในกล้ามเนื้อให้ทำงานต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และช่วยคลายกล้ามเนื้อที่เกรงอยู่ได้
4. เครื่องช็อคเวฟ
เป็นเครื่องที่ช่วยสลายพังผืดและคลายกล้ามเนื้อ กระตุ้นการสร้างเซลล์กล้ามเนื้อใหม่ โดยใช้คลื่นกระแทก
5. เครื่องดึงหลังดึงคอ
เป็นเครื่องที่ช่วยเปิดช่องว่างของกระดูกสันหลัง เพื่อลดการกดทับของเส้นประสาท และลดอาการตึงของกล้ามเนื้อหลังและคอ
6. จักรยานขา/จักรยานมือ
ตัวช่วยสำหรับผู้สูงวัยหรือแขนขาอ่อนแรง ช่วยให้ผ่อนคลายและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตในร่างกาย
7. เตียงฝึกยืน
เป็นเครื่องมือที่ใช้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถทรงตัวเองได้ เป็นเตียงที่ปรับระดับความเอียงได้ ออกแบบมาเพื่อสำหรับการฝึกยืนโดยเฉพาะ
8. บาร์คู่ขนาน
เป็นอุปกรณ์สำหรับฝึกยืนและเดิน สามารถปรับความสูงและความกว้างได้ตามสรีระของผู้ป่วยแต่ละบุคคล
อุปกรณ์กายภาพบำบัดไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่ยังมีอีกมากมาย ซึ่งในปัจจุบันก็จะมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกแบบมาเพื่อช่วยให้การทำกายภาพบำบัดของผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการทำกายภาพบำบัด
- ความถี่ในการทำกายภาพที่เหมาะสม ควรทำสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพราะหากทำบ่อยเกินไปอาจจะระบม เกิดอาการล้าและอ่อนเพลียได้ แต่หากทิ้งช่วงการทำกายภาพบำบัดนานเกินไปก็จะไม่ค่อยเห็นผลเช่นกัน
- หลังจากกายภาพบำบัด ไม่ควรบีบนวดบริเวณที่ทำ เพราะจะทำให้เขียวช้ำและกล้ามเนื้ออักเสบได้ง่าย
ไปทำกายภาพบำบัดที่ไหนดี
สำหรับสถานที่ทำกายภาพบำบัดมีมากมายหลายแห่ง ซึ่งคุณสามารถเลือกได้ตามความสะดวกและความเหมาะสมกับอาการที่เป็น โดยส่วนใหญ่จะมีสถานที่สำหรับกายภาพบำบัด ดังต่อไปนี้
- โรงพยาบาลที่มีแผนกกายภาพบำบัด ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนหลากหลายแห่งทั่วประเทศ
- คลินิกกายภาพบำบัด เป็นคลินิกเฉพาะทางสำหรับผู้ที่ต้องการทำกายภาพบำบัดโดยเฉพาะ
- คลินิกสำหรับนักกีฬา เป็นคลินิกสำหรับนักกีฬาที่ต้องการฟื้นฟูอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
- ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นศูนย์ที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ที่มีบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมือครบครัน
- ศูนย์สุขภาพชุมชน อาจมีการให้บริการกายภาพและสอนพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุ
- โรงเรียนแพทย์ บางแห่งอาจมีแผนกกายภาพบำบัดที่เปิดให้บริการแบบสาธารณะ
- กายภาพบำบัดที่บ้าน โดยนักกายภาพบำบัดวิชาชีพที่มีใบรับรอง ซึ่งจะเดินทางไปให้บริการถึงที่บ้าน
การทำกายภาพบำบัดเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญสำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหว โดยที่จะละเลยไม่ได้ เพราะเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของระบบกล้ามเนื้อและสมอง ซึ่งผู้ป่วยต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การนั่ง ยืน เดิน การหยิบจับสิ่งของ การทำกิจวัตรต่าง ๆ ดังนั้นเราจึงควรให้ความใส่ใจและตระหนักถึงความสำคัญของการทำกายภาพบำบัด โดยใครที่มีปัญหาอาจปรึกษานักกายภาพบำบัดโดยตรงหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องก็ได้เช่นกัน
สำหรับใครที่กำลังมองหาตัวช่วยในการดูแลผู้ป่วยที่ต้องทำกายภาพบำบัด เราขอแนะนำอุปกรณ์เพื่อสุขภาพจากแบรนด์ Topcares ที่มีทั้งเตียงไฟฟ้าปรับระดับ ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา และอื่น ๆ ที่จะมาช่วยให้การทำกายภาพบำบัดของคุณเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นกว่าเดิม
Reference Source :
https://www.sarirarak.com/single-post/กายภาพบำบัด
https://hdmall.co.th/c/what-does-it-mean-physical-therapy
https://www.thaimedicalfurniture.com/type-of-physical-therapy-equipment/