แผลกดทับเป็นสิ่งที่พบได้มากในผู้สูงวัย โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งหากปล่อยไว้นาน ๆ อาจเสี่ยงเป็นแผลกดทับติดเชื้อได้ในอนาคต บางรายอาจรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งผลร้ายแรงที่สุดอาจนำไปถึงการเสียชีวิตของคนที่คุณรัก ดังนั้นเราจึงต้องรู้และเข้าใจเกี่ยวกับแผลกดทับเกิดจากอะไร แผลกดทับมีกี่ระดับ วิธีการรักษาแผลกดทับ ยารักษาแผลกดทับ และอื่น ๆ เพื่อเป็นความรู้ในการดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด
แผลกดทับเกิดจากอะไร
แผลกดทับภาษาอังกฤษ คือ pressure sores หรือ bed sore คือ แผลที่เกิดจากการกดทับเป็นเวลานาน เนื่องมาจากขาดการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวน้อย หรือเกิดจากการเสียดสีของเสื้อผ้า ความอับชื้นและความสกปรกของผิวหนัง ทำให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวถูกทำร้ายเกิดเป็นแผลขึ้นมา มักพบได้บริเวณที่เป็นปุ่มกระดูก ได้แก่ ก้นกบ สะโพก ข้อศอก ข้อเท้า ส้นเท้า ท้ายทอย หลัง ไหล่
ปัจจัยเสี่ยงเกิดแผลกดทับ
ปัจจัยเสี่ยงการเกิดแผลกดทับมีด้วยกันหลากหลายสาเหตุ แต่โดยส่วนมากมักเกิดกับผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก ซึ่งได้แก่
- ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว เช่น นอนติดเตียง พักฟื้นหลังผ่าตัด
- ตัวผอมบาง ขาดสารอาหาร ขาดน้ำ เห็นกระดูกชัดเจน
- น้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน
- ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดอุดตัน
- ประสบปัญหาด้านการขับถ่าย กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ ทำให้เกิดการอับชื้น
แผลกดทับมีกี่ระดับ
แผลกดทับมีหลายระดับ ซึ่งมีตั้งแต่ระยะเริ่มต้นเป็นแผลเล็กน้อย ไปจนถึงระยะรุนแรง ที่เป็นแผลลึกไปจนถึงกระดูก ซึ่งมีลักษณะแผลที่แตกต่างกัน มีการสูญเสียเนื้อเยื่อ ผิวหนัง ชั้นไขมัน ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งมี 4 ระยะด้วยกัน ดังนี้
แผลกดทับระดับที่ 1
ผิวหนังบริเวณที่ถูกกดทับเป็นรอยแดง เมื่อใช้มือกดจะไม่จางหายไป และมีอาการเจ็บ
แผลกดทับระดับที่ 2
ผิวหนังเป็นรอยแดง เริ่มมีแผลเปิดขนาดเล็ก เป็นแผลตื้น มีตุ่มน้ำใส มีอาการเจ็บและระคายเคือง มีการสูญเสียเนื้อเยื่อของผิวหนังบางส่วน
แผลกดทับระดับที่ 3
ผิวหนังเป็นแผลลึกถึงชั้นไขมัน แต่ยังไม่ลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูก อาจเห็นเนื้อตายสีเหลืองบางส่วน
แผลกดทับระดับที่ 4
เป็นแผลกดทับเป็นรู แผลกดทับเป็นโพรง ลึกถึงกระดูก สูญเสียชั้นผิวหนังทั้งหมด เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายและเป็นอันตรายมากที่สุด
การตรวจวินิฉัยแผลกดทับ
สำหรับคนที่เป็นแผลกดทับ ข้อวินิจฉัยทางพยาบาลจะช่วยให้คุณตัดสินใจนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแผลกดทับได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดต้องให้ข้อมูลผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ เช่น โรคประจำตัว อาการต่าง ๆ จุดที่เป็นแผลกดทับ ประวัติการรักษาต่าง ๆ ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้การตรวจวินิจฉัยเป็นไปด้วยดี และทำการรักษาได้อย่างตรงจุด
วีธีรักษาแผลกดทับ
แผลกดทับรักษาได้ด้วยการร่วมมือกันระหว่างผู้ดูแลผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ โดยขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ การลดแรงกดทับ การทำแผลและดูแลแผล การตัดชิ้นส่วนเนื้อตาย การดูแลและรักษาผู้ป่วยอย่างครอบคลุม จะช่วยทำให้แผลกดทับดีขึ้นได้ และยังช่วยให้สุขอนามัยและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นตามอีกด้วย ซึ่งวิธีรักษาแผลกดทับมีดังนี้
1. การลดแรงกดทับ
เป็นวิธีรักษาแผลกดทับระยะแรก โดยการพลิกตัวผู้ป่วยทุก ๆ 2 ชั่วโมง ไม่นอนกดทับแผล หนุนหมอนสูงไม่เกิน 30 องศา โดยอาจเลือกเป็นหมอนยางพาราเพื่อสุขภาพก็ได้ เวลานอนตะแคงควรนอนที่ 30-45 องศา จึงจะเหมาะสม และช่วยลดแผลกดทับได้
2. การทำแผลและดูแลแผล
การทำแผลกดทับขึ้นอยู่กับระดับของแผล โดยแพทย์จะพิจารณาและประเมินพื้นแผล ขอบแผล เนื้อตาย และวัสดุที่ใช้ทำแผล ให้เหมาะสมกับแผลของแต่ละบุคคล หากมีของเหลวหลั่งออกมาจากแผลน้อย อาจใช้วัสดุทำแผลที่ไม่มากนัก หากมีของเหลวไหลออกมาเยอะ อาจใช้วัสดุที่ซึมซับได้ดี เพื่อลดการเสียดสีของผิวหนังและทำให้แผลหายได้เร็วขึ้น
3. การตัดชิ้นส่วนเนื้อตาย
โดยแพทย์จะพิจารณาตัดเนื้อตายออกไป เพราะเนื้อตายจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อและทำให้การรักษายากขึ้น จากนั้นแพทย์อาจจะนำเนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ ที่สมบูรณ์ของร่างกายมาปิดแผลแทน และจ่ายยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและรักษาแผล
วิธีดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ
1. การเปลี่ยนและจัดท่าทาง
อาจเปลี่ยนจากท่านอนหงายมาเป็นนอนตะแคง โดยหาหมอนข้างมาเสริม และอาจหาหมอนเล็ก ๆ มากั้นระหว่างบริเวณปุ่มกระดูกต่าง ๆ
2. การใช้อุปกรณ์เสริมช่วย
เช่น เตียงลม เตียงน้ำ ที่นอนยางพารา ช่วยลดแผลกดทับ หรือแผ่นโฟม แผ่นเจล รองบริเวณที่เป็นแผลกดทับ เป็นต้น
3. การดูแลโภชนาการ
ผู้ป่วยจะต้องรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันดี ผักผลไม้ที่มีกากใยหรือไฟเบอร์สูง เพื่อป้องกันการเกิดแผลใหม่ และทำให้แผลเก่าหายไวขึ้น
วิธีป้องกันแผลกดทับ
การป้องกันแผลกดทับเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งที่ดีสุดสำหรับผู้ป่วย โดยมีหลายวิธีด้วยกัน ที่ผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดควรทำตามทั้งหมด เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ป่วยแบบองค์รวม
- พลิกตัวผู้ป่วยบ่อย ๆ ทุก 2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย หรือมากกว่านั้น ซึ่งจะเป็นวิธีการป้องกันการเกิดแผลกดทับที่ดีที่สุด
- ให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเบา ๆ บนเตียง โดยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
- หมั่นสังเกตผิวหนังตามร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งแผลกดทับเก่าและแผลใหม่ ลักษณะของแผล โดยเฉพาะบริเวณปุ่มกระดูกต่าง ๆ และห้ามกดหรือนวดบริเวณดังกล่าว
- หมั่นรักษาความสะอาดและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังของผู้ป่วยอยู่เสมอ หากมีแผลก็ควรทำแผลอย่างถูกวิธีตามระยะของแผลกดทับต่าง ๆ
- ระวังไม่ให้ผู้ป่วยเกิดการเสียดสีอย่างรุนแรง เช่น การไถครูดไปกับพื้นเตียง
- เลือกที่นอนให้เหมาะสมกับผู้ป่วย เช่น ที่นอนลมที่ป้องกันแผลกดทับโดยเฉพาะ หรือที่นอนยางพาราเพื่อกระจายแรงกดทับ
- ควบคุมน้ำหนักของผู้ป่วย ไม่ให้มีน้ำหนักมากจนเกินไป
- ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีนและวิตามินต่าง ๆ เพื่อช่วยในการเสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่สูญเสียไป
ยารักษาแผลกดทับ
ยารักษาแผลกดทับมีหลายตัวให้เลือกใช้ ส่วนใหญ่จะเป็นยาหรือครีมที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนังและช่วยฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรีย ซึ่งทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น และป้องกันไม่ให้แผลแย่ลงกว่าเดิม โดยเรามีตัวอย่างยามาแนะนำ ดังนี้
- Zinc Paste : ใช้ทาบริเวณผิวหนังที่เป็นแผลกดทับ
- Duoderm Hydroactive Gel : ใช้ทาบริเวณผิวหนังที่เป็นแผลกดทับ
- Cavilon™ Durable Barrier Cream : ใช้ทาวันละ 1 ครั้ง สำหรับการขับถ่ายไม่เกิน 3 ครั้ง/วัน แต่หากขับถ่ายมากกว่านั้น อาจเพิ่มจำนวนครั้งในการทาได้
- Cavilon™ No Sting Barrier Film : ใช้พ่นบริเวณที่โดนอุจจาระทุก 24-72 ชั่วโมง แต่ถ้าหากมีการขับถ่ายบ่อย ท้องเสีย หรือผิวหนังแดง ให้พ่นทุก 12 ชั่วโมง
อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ช่วยดูแลแผลกดทับ
นอกจากวิธีการป้องกัน วิธีรักษาแผลกดทับ และยารักษาแผลกดทับแล้ว ยังมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะมาช่วยบำบัดและรักษาแผลให้หายเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งอุปกรณ์ช่วยลดแรงกดทับ
เช่น ที่นอนลม ที่นอนยางพารา แผ่นเจลลดแรงกดทับ แผ่นโฟมลดแรงเสียดสีและแรงกดทับบริเวณปุ่มกระดูก เป็นต้น
อุปกรณ์ช่วยทำแผลชั้นสูง
เป็นวัสดุปิดแผลหรือวัสดุใส่ในแผลที่ช่วยในการสมานแผลให้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งต้องมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นคนเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย
การรักษาแผลด้วยวิธีสุญญากาศ
เป็นการรักษาแผลกดทับด้วยอุปกรณ์ที่เป็นสายเล็ก ๆ สอดเข้าไปในแผล เชื่อมต่อกับเครื่องสุญญากาศที่ใช้ระบบปิดความดันต่ำ จากนั้นจะช่วยระบายของเหลวที่คลั่งอยู่ในแผล ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
เครื่องช็อคเวฟ
เป็นเครื่องที่ใช้กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ของผิวหนัง โดยการกระแทกที่แผลอย่างเหมาะสม โดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง
เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนทางผิวหนัง
เป็นการวัดค่าแรงดันออกซิเจนผ่านทางผิวหนัง โดยการไปติดหัววัดในบริเวณที่ต้องการ เพื่อดูระดับการขาดออกซิเจน จะได้ประเมินการรักษาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งอาจใช้เวลานานประมาณ 1-2 ชั่วโมง
การบำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูง
เป็นการให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในห้องที่มีความดันสูง และหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ซึ่งจะช่วยให้เนื้อเยื่อได้รับออกซิเจนมากขึ้น ทำให้ช่วยลดอาการบวม ซ่อมแซม สร้างเส้นเลือดขึ้นใหม่ ช่วยให้แผลกดทับหายเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดขาว เพื่อช่วยกำจัดเชื้อโรคและป้องกันการติดเชื้อ
การรักษาด้วยเลเซอร์
เป็นการรักษาแผลด้วยพลังงานแสง ซึ่งจะช่วยลดอาการบวม ลดการอักเสบ สมานแผล กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อและชั้นคอลลาเจน ทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น
แผลกดทับเป็นสิ่งที่ใครก็ไม่อยากเป็น เป็นสิ่งที่ผู้ดูแลและบุคคลใกล้ชิดผู้ป่วยก็ไม่อยากเจอ ซึ่งก็มีวิธีป้องกันด้วยการเคลื่อนไหวและพลิกตัวบ่อย ๆ แต่หากเกิดเป็นแผลขึ้นมาแล้ว ก็มีวิธีดูแลรักษาตามระยะและขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งยังมียา อุปกรณ์ และเทคโนโลยีมากมายที่จะช่วยรักษาแผลของผู้ป่วยให้หายได้เร็วยิ่งขึ้น ดังนั้นแม้ว่าแผลกดทับติดเชื้อจะอันตราย แต่ก็มีหนทางในการป้องกันและรักษา ซึ่งก็ต้องมาจากความรักและความใส่ใจของผู้ดูแลและบุคคลใกล้ชิดนั่นเอง
สำหรับใครที่กำลังมองหาอุปกรณ์เพื่อสุขภาพสำหรับดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ เราขอแนะนำ Topcares ร้านขายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง โดยเรามีทั้งเตียงไฟฟ้าปรับระดับได้ ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา ที่นอนโฟมยืดหยุ่นตามสรีระ และอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้คนที่คุณรักมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขในทุก ๆ วัน
Reference Source :
https://www.bangkokhospital.com/content/pressure-ulcers
https://healthathome.in.th/blog/caregiving-for-pressure-sores-แผลกดทับ
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/pressure-ulcer
https://www.cherseryhome.com/content/4311/5-วิธีการดูแลป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับในผู้สูงวัย-รพผู้สูงอายุ-chersery-home